ในวันเด็กแห่งชาติทุกๆ ปีของไทยเรานั้น (จัดขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม) ตามประเพณีหรือหลักปฏิบัติที่ใช้กันมานาน นายกรัฐมนตรีจะให้คำขวัญกับเด็กและเยาวชนไทย เป็นประจำทุกปีโดยบางนายกรัฐมนตรีก็มักจะมีวลีเด็ดๆ สั้นบ้างยาวบ้าง เพื่อชักชวนและส่งเสริมให้เด็กไทยเป็นคนดี รักชาติ และช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมือง หรือนัยหนึ่งให้เพียรพยายามเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
ในปี 2567 นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดและปัจจุบันของไทยก็ได้มอบวลี “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” ให้กับเด็กไทย ซึ่งก็เป็นคำขวัญที่ดูเร้าใจในระดับหนึ่ง และดูจะหนักหน่วงไม่ใช่น้อยในการที่เด็กๆ จะรับไปดำเนินการ และปฏิบัติตนให้ได้จริง
นั่นก็เพราะก่อนที่เด็กจะทำตามได้ เขาจะต้องมีองค์ความรู้ และความเข้าใจในคำเหล่านี้ซึ่งต่างก็ขึ้นอยู่กับการได้เคยสนทนาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการให้กำลังใจให้แนวทางจากครอบครัวในขั้นแรก หลังจากนั้นก็ต้องได้รับการบ่มเพาะ ฝึกฝน ฝึกอบรม จากครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน หรือสถานการศึกษาเป็นอันดับที่ 2 ส่วนเรื่องอันดับที่ 3 ก็คือ การที่เด็กๆ จะได้รู้ได้เห็นจากสื่อต่างๆ การข่าว สารคดี และนำมาวิเคราะห์ ถกเถียง และอภิปรายกัน
ซึ่งทั้งหมดก็หมายความว่า ผู้ใหญ่จะปล่อยให้เด็ก หรือเยาวชนไปทำความรู้จักโลกกว้างด้วยตัวเองเพียวๆ เลย ก็ดูจะกระไรอยู่ และยิ่งถ้าจะบอกให้คิดอย่างสร้างสรรค์ รับและตระหนักซึ่งความแตกต่าง รวมทั้งเป็นนักประชาธิปไตย ก็คงดูจะเป็นการมอบภาระหน้าที่ ที่เกินสติปัญญาความสามารถและพละกำลังของเด็กๆ ไป
แล้วหากเด็กๆ ทำไม่ได้ แล้วจะไปกล่าวโทษเด็กๆ ว่าทำไมไม่กระทำเช่นนั้น ก็ดูจะไม่ยุติธรรมอย่างแน่นอน เพราะเด็กนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะรู้เอง เห็นเอง ใฝ่หาความรู้เองในวัยนี้ หากแต่เป็นภาระหน้าที่ของสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแวดวงศาสนาต่างๆ ที่ต่างจะต้องกระทำตนเป็น “ครู”อย่างจริงจังต่างหาก
ฉะนั้น หากนายกรัฐมนตรีหวังว่าคำขวัญที่ตนมอบให้เด็กจะเป็นจริงได้ ตนเองก็ต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อน โดยเริ่มจากตัวนายกรัฐมนตรีถามตนเองก่อนว่า ตนเองนั้นมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโลกกว้างอย่างใด?โลกกว้างนี้เกี่ยวโยงกับประเทศไทยมากน้อยเพียงใด? และประเทศไทยจะต้องทำตัวอย่างไร?และหากจะให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ต้องตระหนักและแก้ไขประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาของไทยที่มักจะสอนให้จดให้จำ ให้ฟังครูและเกรงกลัวไม้เรียว และแล้วจะให้เด็กคิดสร้างสรรค์อย่างไร?โดยเฉพาะในเมื่อเขายังไม่สามารถที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในห้องเรียนที่เป็นสังคมแรกๆ ของเขาได้เลย
อีกทั้งการที่จะให้เด็กเคารพซึ่งความแตกต่างนั้น เขาส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นว่าเขาสุขสบายดี เพราะในห้องเรียนก็มีความแตกต่างอยู่ในตัวอยู่แล้ว และก็มีการยอมรับกัน แล้วความต่างมิได้เป็นประเด็นปัญหา ซึ่งก็อาจจะมีการล้อเลียนกันอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นที่จะกีดกันและกลั่นแกล้ง ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี เศรษฐาทวีสิน ก็ต้องออกมาแจงว่า ความแตกต่างในมุมมองของตัวนายกฯ ในสังคมไทยคืออะไรแน่?
ส่วนเรื่องประชาธิปไตยนั้น ตัวกุญแจสำคัญขึ้นอยู่กับสภาพและบรรยากาศในห้องเรียนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะใช้ห้องเรียน มีการเรียนการสอน การร่วมกิจกรรมแบบประชาธิปไตย หรือแบบผู้บริหาร หรือครูประจำชั้นสั่งมา แล้วทุกคนก็ต้องเข้าแถวปฏิบัติตาม ส่วนในภาพกว้าง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล พรรคการเมือง ก็ต้องทำตัวเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ให้เป็นแบบอย่าง กอปรด้วยการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส ไม่โกหกมดเท็จ ไม่โกงกินบ้านเมือง และไม่ข่มขู่ข่มเหงประชาชนพลเมือง
โดยสรุปก็คือ ตลอดปี 2567 นี้ นายกรัฐมนตรี และคณะผู้ปกครองประเทศ ผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง ก็ต้องแสดงตนให้เป็นที่แน่ชัดว่า รู้เห็นโลกกว้าง คิดอ่านสร้างสรรค์ เพื่อส่วนรวม รับความแตกต่างโดยไม่เอาตนและกลุ่มตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นที่ตั้งเท่านั้นและเมื่อได้รับอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ตามครรลองประชาธิปไตย ก็ต้องช่วยกันทำนุบำรุง เสริมสร้างระบอบการเมืองนี้เท่านั้น
เมื่อผู้นำทำได้ เมื่อมีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้เด็กก็ย่อมจะสามารถทำตามได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี