อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยนำคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทยไปเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มีนาคมสองวันก่อน มีข่าวพาดหัวว่า....“อุ๊งอิ๊ง”พบ“ฮุนเซน-ฮุนมาเนต”กระชับสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา...
ถ้าไม่ใช่คนไทยอาจจะงงงวยถ้าอ่านพาดหัวข่าวนี้ ด้วยคิดว่า“อุ๊งอิ๊ง”เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปเยือนกัมพูชาแล้วพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา คือ ฮุน เซน กับ ฮุน มาเนต เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนที่มีพรมแดนติดกัน
แต่ถ้าหากอ่านรายละเอียดของข่าว ประเด็นที่ถูกนำไปพาดหัวข่าว ก็ไม่ได้ผิดไปจากข้อเท็จจริง ฟังจากคำพูดของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ที่ได้กล่าวตอบ“ฮุน มาเนต”นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญจาก ฯพณฯ อดีตนายกฯ ฮุน เซน ให้มาเยือนกัมพูชา พร้อมแสดงความยินดีในโอกาส ฯพณฯ นายกฯ ฮุน มาเนต ที่ได้เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลไทยขณะนี้ มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำงานร่วมกับพรรคของ ฯพณฯ ฮุน เซน และรัฐบาลของ ฯพณฯ ฮุน มาเนต เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”
และอุ๊งอิ๊งมีหมายเหตุขยายความเรื่องการสร้างสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จากคำกล่าวต่อจากนั้นว่า “โดยอาศัยพื้นฐานความใกล้ชิดระหว่างทั้งสองพรรคเป็นต้นทุนเดิมที่สำคัญ เพราะเชื่อว่าการสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศผ่านกลไกพรรคการเมือง จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาอย่างยั่งยืน”
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มีคนเป็นห่วงว่า การไปเยือนกัมพูชาของ“อุ๊งอิ๊ง”บุตรสาวหัวแก้วหัวแหวนของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ ในฐานะคน“เดินสาร"ของบิดา จะไปมุบมิบเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยเกี่ยวกับพลังงานธรรมชาติที่มีมูลค่าถึง 20 ล้านล้านบาทหรือไม่อย่างไร
ฟังจาก สว.คำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งเตรียมประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยดังกล่าวไว้อภิปรายรัฐบาลในการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติของวุฒิสมาชิกวันที่ 25 มีนาคมนี้ โดย สว.คำนูณเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะไปมุบมิบเจรจา เพราะการเจรจาจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเจทีซีฝ่ายไทยขึ้นมาก่อน ((JTC-คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา)
ทั้งนี้ สว.คำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะที่จับประเด็นปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นให้เหตุผลว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการตั้ง (JTC) ก็ยังไม่มีการเจรจา...เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไร ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปมุบมิบเจรจากันได้ง่ายๆ เพราะเมื่อจะต้องทำเป็นข้อตกลงก็จะเข้าข่ายเป็นข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นเรื่องนี้ในทางปฏิบัติน่าจะอีกยาวพอสมควร”
พร้อมกันนี้ สว.คำนูณ สิทธิสมาน ยังเปิดเผยด้วยว่า “ส่วนตัวเตรียมที่จะอภิปรายเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้านบาทกับกัมพูชา เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีข้อควรระวังอะไร แนวความคิดที่จะมีการเจรจาแยกกันระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนมีความอันตรายอย่างไร และขัดกับเอ็มโอยู 2544 อย่างไร”
สำหรับเอ็มโอยู (MOU) หรือบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ในปี 2544 ก็คือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี“ทักษิณ ชินวัตร”เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยมีข้อสรุปว่า “ต้องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลไปพร้อมๆ กับการร่วมกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม” และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ จากรัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ผ่านมา 8 รัฐบาล การเจรจาตกลงปักปันเขตแดนก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
หากมองย้อนกลับขึ้นไปอีก ก็จะพบว่าปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 52 ปีที่แล้ว โดยในปี 2515 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ประเทศกัมพูชาได้ลากเส้นอาณาเขตทางทะเลผ่านเกาะกูดล้ำเข้ามาในดินแดนของประเทศไทย โดยไม่มีข้อบัญญัติทางกฎหมายทะเลรับรอง และในปีถัดมา คือในปี 2516 ประเทศไทย(รัฐบาลจอมพลถนอม) ได้ลากเส้นเขตแดนไทยโดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ตามกฎหมายทะเล อันเป็นผลให้การลากเส้นของกัมพูชาและไทยเกิดเป็นพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิว่าทับซ้อน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร และเชื่อกันว่าพื้นที่ทับซ้อนบริเวณนี้เป็นแหล่งที่อุดมด้วยปิโตรเลียม มีมูลค่าถึง 20 ล้านล้านบาท
แน่อนอนว่า การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของ“อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร”แม้จะในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่การต้อนรับของของกัมพูชาก็ไม่ต่างไปจากการต้อนรับผู้นำระดับประเทศหรือ“Official Visit” มีภาพอุ๊งอิ๊งเดินบนพรมแดงโดยมีนายฮุน มานี รัฐมนตรีกระทรวงข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นบุตรชายของ“ฮุน เซน”และเป็นน้องชายของนายกฯกัมพูชา“ฮุน มาเน็ต”ให้การต้อนรับที่สนามบิน และทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทยพูดสอดคล้องต้องตรงกันว่า เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าการกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างดีขึ้นตามลำดับ
หากดูไทม์ไลน์ ก็จะพบว่า“ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลแถลงว่า ได้คุยกันเรื่องแบ่งผลประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียม จากนั้นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 “ฮุน เซน”บินจากกรุงพนมเปญมาเยี่ยมนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้าน“จันทร์สองหล้า” และ“ฮุน เซน”ได้เชื้อเชิญ“อุ๊งอิ๊ง”ไปเยือนกัมพูชาตามความเห็นชอบของ“ทักษิณ”
การเดินทางเยือนกัมพูชาของ“แพทองธาร ชินวัตร” แน่นอนโดยภาพกว้างๆ มิอาจปฏิเสธได้ว่า จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและความสัมพันธ์ในทางที่ดีแก่ทั้งสองประเทศ แต่ที่ได้เต็มๆ ก็คือผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง“ตระกูลชินวัตร”กับ“ตระกูลฮุน” และระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาชนกัมพูชา อันเป็นการกระชับสายสัมพันธ์ทางอำนาจจาก“รุ่นพ่อ”มาสู่“รุ่นลูก”
เมื่อสองตระกูลกระชับสายสัมพันธ์กันได้อย่างแนบแน่น เรื่องอื่นๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องรอง และปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลก็คงจะเป็นเรื่องรองอีกเช่นเดียวกัน ด้วยการทำให้เป็นพื้นที่กลาง โดยทั้งสองประเทศสามารถแบ่งปันทรัพยากรที่เป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเลกันได้อย่างราบรื่นลงตัว
ถึงวันนั้นทั้งสองตระกูล คือ“ตระกูลชิน-ตระกูลฮุน”ก็คงจะวินๆ ด้วยกันทั้งคู่ และผลประโยชน์ของชาติของประชาชนทั้งสองประเทศก็จะอาจจะกลายเป็นเรื่องรอง !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี