ความผุพังหนึ่งของประเทศชาติบ้านเมือง คือ การที่สมาชิกของสังคม คือ ประชาชนพลเมือง ยอมรับใน “ตรรกะวิบัติ” ของบุคคลสำคัญในสังคม หรือหนักกว่านั้น
ก็คือ ประชาชนตรรกะวิบัติเสียเอง
ตรรกะวิบัติ (Fallacy) คือ การให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล
มาดูกันว่า กรณีตัวอย่างเหล่านี้ อยู่ในสภาพ “ตรรกะวิบัติ” อย่างไร
กรณีที่ 1 : อุ๊งอิ๊งไปฮ่องกงในช่วงสงกรานต์
หลักการขั้นต้น : อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ผู้นำเสนอเรื่องการชูเทศกาลสงกรานต์เมืองไทยเป็นอีเว้นต์
ใหญ่ ในเวลาที่ประเพณีสงกรานต์ ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกความทรงจำของมวลมนุษยชาติ” จากยูเนสโกและรัฐบาลต้องการผลตอบรับทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากเทศกาลสงกรานต์นี้ แต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อุ๊งอิ๊งกับครอบครัวไปฮ่องกง
คำถาม : ทำไมไม่อยู่ร่วมงานที่ตัวเอง เน้น-ย้ำ-และชูขึ้นมาเป็นงานใหญ่
การชี้แจงของอุ๊งอิ๊ง : น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดินทางไปฮ่องกง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของซอฟต์พาวเวอร์ แต่กลับไม่อยู่ร่วมงาน ว่า ความจริงตนอยู่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. แล้วโดยไปเปิดงานตามที่ต่างๆ และการจัดซอฟต์พาวเวอร์ปีนี้เราวางยุทธศาสตร์ขึ้นมาว่าจะจัดงานแบบไหนและกระจายงานไปให้กระทรวงต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดเทศกาลครั้งนี้ ซึ่งเราก็เต็มที่ตั้งแต่ตอนประชุมมาเรื่อยๆ ซึ่งในปีนี้ ยังติดเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ปีหน้าก็มีบทเรียนแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อ
น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า นอกจากการเป็น ประธานซอฟต์พาวเวอร์และหัวหน้าพรรคแล้ว ตนยังเป็นคุณแม่และภรรยา ก็จะพยายามทำทุกหน้าที่ให้สุดความ
สามารถจริงๆ แม้ว่าการทำงานที่ยุ่ง ก็ได้ทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวเสมอ และคิดว่านี้เป็นช่วงปิดเทอมจึงอยากใช้เวลากับครอบครัว ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีและงานก็ออกมายิ่งใหญ่ เพราะตนสนับสนุนทุกทางที่ทำได้
“ดังนั้นเรื่องของดราม่าต่างๆ และ hate speech ต่างๆ ก็อยากให้เข้าใจ เพราะคิดว่าผู้หญิงทุกคนทราบดีว่าการแบ่งเวลา ไม่ได้แบ่งได้ดีทุกวัน แต่มีวันไหนที่เราสามารถจะทำให้ได้ดีแล้ว ก็ขอความเข้าใจด้วย ขอให้ใจดีกันนิดนึงการทำงาน ก็ต้องเติมพลังไปด้วย และพลังของอิ๊งก็คือครอบครัว จะดราม่าอย่างไรก็พร้อมรับฟัง และเมื่อถึงมาหน้าที่ของอิ๊งทำเต็มที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนก็ตาม” น.ส.แพทองธาร กล่าว
เรื่องนี้ “ตรรกะวิบัติ” อย่างไร : คีย์เวิร์ดส อยู่ที่ “...นอกจากการเป็น ประธานซอฟต์พาวเวอร์และหัวหน้าพรรคแล้ว ตนยังเป็นคุณแม่และภรรยา...”
1) คำนี้ ประโยคเหล่านี้ คงผ่านการคิด และเตรียมมาจากบ้านแล้วแหละ เพราะกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า “อุ๊งอิ๊งหายไปไหน” นั้น แรงมาก
2) แต่การชี้แจงแบบนี้ แสดงว่าอุ๊งอิ๊งแยกแยะไม่ออกว่า งานในหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่ตนเองเป็นผู้ชูเทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาเป็นอีเว้นต์แรกๆ นั้น “สำคัญที่สุดในช่วงวันที่ 12-16 เมษายน 2567”
3) แล้วครอบครัวสำคัญไหม การให้ความสำคัญต่อหน้าที่เมียและแม่ ผิดตรงไหน ตอบเลยว่า ไม่ผิดครับ แต่อุ๊งอิ๊งรู้ไหมว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น มันรวมวันผู้สูงอายุและวันครอบครัวเข้าไว้ด้วย อุ๊งอิ๊งทำหน้าที่ต่อครอบครัวได้ที่ประเทศไทยครับ จะเที่ยว จะพักผ่อนหย่อนใจ จะอยาก “มีความเป็นส่วนตัว” อย่างไร ทำได้ที่ประเทศไทยครับ และถ้าอุ๊งอิ๊งที่แสดงตนเป็น “ตัวตั้งตัวตี”เทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ อยู่ร่วมงานปรากฏตัวที่นั่นที่นี่ กระตุ้นพลังของ “วันผู้สูงอายุ-วันครอบครัว” ด้วยครอบครัวที่เธอรักและให้ความสำคัญอยู่ที่ประเทศไทยนี่ ทำได้ไหมครับ น่ารักไหมครับ เป็นตัวอย่างที่ดีสมแก่หน้าที่ “ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” มากๆ เลยใช่ไหมครับ แต่เธอเลือกจะไปฮ่องกง ด้วยการสำนึกว่า ““...นอกจากการเป็น ประธานซอฟต์พาวเวอร์และหัวหน้าพรรคแล้ว ตนยังเป็นคุณแม่และภรรยา...” อุ๊งอิ๊งรู้ไหมว่า อุ๊งอิ๊งแสดงตนและทำหน้าที่แม่และเมียได้ตลอดทั้ง 365 วัน แต่อุ๊งอิ๊ง แสดงตนและทำหน้าที่ประธานซอฟต์พาวเวอร์ใน “เทศกาลสงกรานต์” ได้แค่สัปดาห์ที่มีงานเท่านั้นเองครับ
4) จะมองว่า ทั้งหมดนี่เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา เป็นการไร้ความสามารถในการจำแนกแยกแยะและจัดลำดับว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรในช่วงเวลาหนึ่งๆ หรือจะมองว่า แท้จริงแล้ว “งานไม่ได้สำคัญไปกว่าครอบครัว” ก็อยู่ที่ใจคนจะมอง แต่ถ้างานสำคัญน้อยกว่าครอบครัว ในช่วงสัปดาห์เดียวของปี ที่งานนั้นมีโอกาสจัด เธอควรสละตำแหน่งในงานทั้งหลาย แล้วไปทำหน้าที่ “แม่และเมีย” เต็มเวลาเลย จะดีกว่าไหม?
5) ดร.เสรี วงษ์มณฑา โพสต์เฟซบุ๊กว่า “คนทุกคนต่างก็มีหลายสถานะทั้งนั้น ทั้งบทบาทในชีวิตส่วนตัว บทบาทในการทำงาน บทบาททางสังคม บทบาทในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศ แต่คนที่ฉลาด มีวุฒิภาวะ มีสำนึกที่ดี จะมีความสามารถในการจัดลำดับสำคัญ (prioritize) ว่าในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละสถานการณ์ ควรจะให้ความสำคัญกับบทบาทใด
การเลือกทำบทบาทที่สำคัญน้อยกว่า และละเลยบทบาทที่สำคัญมากกว่า แสดงให้เห็นว่า เป็นการขาดวุฒิภาวะในการจัดลำดับความสำคัญของบทบาทต่างๆ ไม่ถูกต้อง เมื่อพลาดไปแล้ว กล่าวคำขอโทษสั้นๆ ดีกว่าชี้แจงแล้วทำให้ผู้คนเขามองว่าเป็นการ “แก้ตัว” นะคะ แล้วถ้าทำอะไรได้เพื่อเป็นแก้ไข ก็ทำเถอะ อย่าพยายามชี้แจงให้คนมองว่าแก้ตัวแบบด้อยปัญญาเลยนะคะ อย่าลืมสำนวนไทยสิคะ คนดีเขาแก้ไขนะคะ ส่วนใครก็ไม่รู้ที่แก้ตัวนะคะ
กรณีที่ 2 : กัลยาโณ ไม่โอเค!
ในรายการ กัลยาโณโอเค EP.224 ทางยูทูบ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา “พระพยอม กัลยาโณ”วัดสวนแก้ว นนทบุรี กล่าวตอนหนึ่ง เมื่อพิธีกรชวนสนทนาเรื่องภาพ “นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร” เล่นน้ำกับหลานที่สระน้ำบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่มีภาพดัมเบลสีฟ้ารวมอยู่ด้วย ว่า
“มันมีคำอยู่คำหนึ่ง ผู้ป่วย จะไม่คิดให้เขาหายบ้างเหรอมันเหมือนกับไอ้ฝ่ายหนึ่งเนี่ยนะ อยากให้ป่วยนอนติดเตียงไม่อยากให้หาย ถ้าหาย ลุกขึ้นมานี่ ตัวเองหมดสุขหมดความสุขเลย อยากให้เขาเจ็บเขาป่วย ไม่หาย ก็นี่ดันมาหาย แล้วออกอาการแข็งแรง”
พิธีกร : แต่ถ้าแยกเป็นประเด็นเรื่องความรู้สึกอิจฉา หรือรำคาญ อันนี้เป็นไปได้อย่างที่หลวงพ่อพูด แต่ถ้าแยกเป็นประเด็นในเรื่องที่คนต่อสู้กันมาแล้วถามคำถามว่า
จริงๆ แล้วเนี่ย เป็นอภิสิทธิ์กว่าปกติหรือเปล่า จริงๆ ไม่น่าถามนะ ตอบเลยว่าอภิสิทธิ์ก็แล้วกัน (พระพยอมพูดแทรกว่า ใช่) ไม่งั้นมันไม่เป็นอย่างนี้หรอก
พระพยอม : แหม แต่ว่า อาตมามานั่งนึกถึงคำพูดคำสอนที่ว่า “มีสุขเพราะหมดเกลียด ถ้ามีเกลียด มันจะหมดสุข” คือ ถ้าเกลียดคนนี้ อยากให้มันป่วยมันเจ็บ ให้ตาย
แต่มันดันหายออกมา (หัวเราะ) สำแดงพลังแข็งแรง รู้สึกไอ้คนที่เกลียดนี่มันไม่เป็นสุขเลย ถ้าคนนั้นเป็นสุข ฉันจะหมดสุข ถ้าคนนั้นมันมีทุกข์ ฉันจะมีสุข
เรื่องนี้ “ตรรกะวิบัติ” อย่างไร?
1) เรื่องนี้ สะท้อนว่า พระพยอมนั้น “ทางโลกต่ำ ทางธรรมตื้น” มองปัญหาไม่ขาด ขบปัญหาไม่แตก แต่ช่างพูด
2) มีพุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวว่า “วาจาใดไม่จริง ไม่แท้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ก็ไม่กล่าววาจานั้น, คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าวคำนั้น, คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่นตถาคตก็ไม่กล่าวคำนั้น, คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น” พระพยอม กัลยาโณ มิได้ยึดหนทางในการพูดตามแบบตถาคตเป็นแน่แท้ จึงขาดความสำรวมในการพูด ผิดตั้งแต่ขั้นไต่สวนทวนความ
3) พระพยอมหยั่งปัญญาลงได้แค่ “ตัวบุคคล” อาจเพราะท่านนิยมชมชอบ “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่เป็นทุนเดิม ท่านจึงมุ่งไปที่ตัวบุคคลมากกว่าเห็น “ภาพรวมของสังคม” อาจกล่าวได้ว่า ท่านไม่รักษา “ประโยชน์ของสังคม” แต่ไปปกป้อง “ประโยชน์ของตัวบุคคลแทน”
4) สังคมวิพากษ์วิจารณ์การลงเล่นน้ำในสระครั้งนั้นของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ บนแก่นสารสำคัญว่า “ไหนว่าป่วยไง ไหนว่าอาการวิกฤตไง ไหนว่าเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยไงไหนว่าผ่าตัดไง” คือ สังคมไม่เคยเชื่อว่า ทักษิณป่วยจริงเป็นการป่วยที่ไม่สุจริต เมื่อเห็นทักษิณลงเล่นน้ำ แข็งแรง ไม่มีบาดแผลที่เกิดจากการผ่าตัดปรากฏ จึงได้วิพากษ์วิจารณ์แก่นของเรื่องจึงไม่ใช่การ “มีสุขเพราะหมดเกลียด ถ้ามีเกลียด มันจะหมดสุข” แต่เป็นเรื่องของการตรวจสอบ การจับผิด “ป่วยทุจริต” หรือ “ป่วยทิพย์”
5) เมื่อนำจำนวนปีในชีวิต มาบวกรวมกับจำนวนพรรษาในผ้าเหลือง พระพยอมไม่ควรต่ำตื้นอย่างนี้ ควรจะเข้าใจ “เหตุ” จากข้อ 3) ได้ และชี้ได้ว่า “ผลเกิดมาแต่เหตุ” เขาวิจารณ์กันเพราะเขาไม่เชื่อในอาการป่วยของนักโทษรายนี้ ก็แค่นั้นเอง
6) “ทางดับทุกข์” ตามหลักอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาคือ ทุกข์ (ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว) สมุทัย (เหตุที่มาที่ก่อปัญหาให้เกิด) นิโรธ (ทางดับทุกข์) มรรค (ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ปัญหาล่วงไป)
7) อายุผ้าเหลืองของพระพยอม ควรก่อ “สะพานเชื่อมโลกเชื่อมธรรม” ได้ทันที ด้วยการนำหลักอริยสัจ 4 มาจับกับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือจะใช้หลักปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา ที่ว่า “เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิด เพราะไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงไม่เกิด” คือ ใช้แว่นธรรมส่องโลก และชี้ทางดับทุกข์ให้โลก
8) หากไม่ถูก “อคติ” เรื่อง ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะหลง บังตา ควรจะชี้ได้ว่า เมื่อมีเหตุ คือ การเจ็บป่วยที่มีเงื่อนงำ ซ่อนเร้น ปิดลับ ผลคือ คนไม่ไว้ใจ
ไม่เชื่อ ว่าป่วยจริง พอลงเล่นน้ำ คนจึงวิจารณ์ ด้อยค่า ตั้งคำถาม การจะแก้ปัญหานี้ ด้วยหลักธรรมดังกล่าว โยมทักษิณก็ควร “ทำความจริงให้กระจ่าง” คือ เปิดเผยอาการ “ป่วยที่สุจริต” ของตน ว่ามีโรคใด อาการใด รักษามาแล้วอย่างไรมีผลการตรวจ มีคำวินิจฉัยของแพทย์ ที่เปิดเผยได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ ถ้าป่วยจริง รักษาจริง ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องปกปิด แล้วเรื่องกวนใจแบบนี้ก็จะดับไป จบไป สังคมก็จะได้ไม่รบกวน รังควาน กระบวนการบังคับโทษ พักโทษหรือการไม่ต้องนอนคุกก็กระจ่าง สิ้นกระแสความ ได้รักษาหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องให้หลุดพ้นมลทินมัวหมองจากการปกปิดของคนคนเดียวได้อีกต่างหาก
9) พระพยอมมองไม่ออกจริงๆ หรือว่า คนที่เขาวิจารณ์เรื่องนี้ เขามีเจตนาจะรักษา “ความถูกต้องของสังคม” รักษาหลัก “นิติรัฐนิติธรรม” รักษาหลัก “คนทุกคน
เสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” ซึ่งเป็นเจตนาบริสุทธิ์ที่ไม่ควรถูกตีความและใส่ความว่าเป็น “ความเกลียด”
10) พอพระพยอมผิดหลงด้วยอคติรบกวน เพราะมีความรักความนิยมในตัว “ทักษิณ” สะพานธรรม หรือคำสอนของท่าน จึงผุพัง บิดเบี้ยว เป็นตรรกะวิบัติชนิดหนึ่งทันที
กรณีที่ 3 : “เขาเป็นเด็กดีนะ”
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณีชายวัย 46 ปี ลูกรัฐมนตรีช่วยกระทรวงหนึ่ง เมาแล้วซิ่งขับ BM หรู ฝ่าด่านตำรวจ ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไปยัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกเชื่อมโยง
นายสันติ ย้อนถามผ่านทางโทรศัพท์ว่า ลูกชายผมทำอะไรเหรอ ผู้สื่อข่าวจึงย้ำว่า ถูกตำรวจจับจากกรณีเมาแล้วขับ นายสันติ ร้องอ๋อ ก่อนจะบอกว่า ยังไม่ทราบเรื่องเลย
เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน เขาโตแล้ว แยกครอบครัวไปแล้ว แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวโทรถามเขาดูว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะยืนยันว่า เขาเป็นเด็กดีนะ “ผมยังไม่รู้เลยนะเนี่ย”
เรื่องนี้ตรรกะวิบัติอย่างไร?
นายสันติคงไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เป็นเรื่องตรรกะวิบัติอย่างไรหรอก เป็นแต่คำพูดของพ่อคนหนึ่งเท่านั้นเอง เพียงแต่เมื่อพูดออกมาแล้ว มันวิบัติว่ะพ่อ 555…
เด็กดีก็ผิดพลาดได้ครับพ่อ
เด็กดีเมาได้ครับพ่อ แต่เมาแล้วไม่ควรขับ เจอด่านไม่ควรฝ่า
ถ้าพ่อเป็นพ่อที่มีเหตุผล ควรเน้นไปที่เรื่องพวกนี้ เช่น ถ้าเขาทำจริงๆ เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้เลยครับ เขาโตแล้ว ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์บนท้องถนน ผมเห็นด้วยกับการมีกฎหมาย “เมาไม่ขับ” ตรวจพบต้องจับ ปรับ ดำเนินคดีไปตามขั้นตอน ไม่ว่าลูกผมหรือลูกใคร ไม่มีข้อยกเว้นครับ
สรุป : ทั้ง 3 กรณีที่หยิบยกมา เป็นเพียงตัวอย่างให้เราช่วยกันกลับเข้าสู่การมีเหตุผล และอธิบาย ชี้แจง วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ ในบ้านในเมืองของเราให้ “สมเหตุผล” เพื่อรักษาไว้ซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ มีกติกา
แล้วบ้านเมืองของเราจะพัฒนาและดีกว่านี้ได้ว่าไหมครับ!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี