โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กับโครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นโครงการที่ต้องอาศัยดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯเหมือนกัน
โครงการโคแสนล้านฯ จะใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้าน ปล่อยกู้แก่เกษตรกรเพื่อซื้อโคไปเลี้ยง
แต่โครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จะใช้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท แจกให้เกษตรกรไปจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางที่กำหนด
จะเห็นว่า 2 โครงการนี้ แตกต่างกัน
โครงการโคแสนล้านฯ สามารถทำได้ เพราะส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรชัดเจน โดยเกษตรกรมีภาระต้องใช้คืนเงินกู้ ส่วนรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส.
แต่โครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการแจกเงินหวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป โดยเกษตรกรไม่มีภาระต้องใช้หนี้คืน รัฐบาลจะรับภาระชดเชยแก่ธ.ก.ส. ยังต้องพิจารณาว่า สามารถทำได้ตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ เจตนารมณ์ของ ธ.ก.ส.หรือไม่?
ลองพิจารณาดูชัดๆ
1. ครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง
กรอบวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท
โดยรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส.ในระยะเวลา 2 ปี อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้ ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จำนวน 450 ล้านบาท (ปีละ 225 ล้านบาท) ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เสนอ
2. ที่มาของโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง
หัวเรือใหญ่ คือ รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผลักดันโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง โดยเสนอรายละเอียด สรุป ดังนี้
2.1 ที่มาของงบประมาณ
ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ย 4.50 ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท รวม 2 ปี 450 ล้านบาท) โดยให้ ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป
2.2 วัตถุประสงค์โครงการ
เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิกยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง
2.3 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลา
เป็นสินเชื่อระยะยาว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคลตามแนวทางที่กำหนด
ให้สมาชิกกองทุนฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับกองทุนหมู่บ้านฯ จากนั้นกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ ตามระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้านฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ
2.4 แผนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บกับกองทุนหมู่บ้านฯ
กรณีผิดนัดชำระหนี้ปีที่ 4 - 5 ธ.ก.ส. จะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดตามที่เรียกเก็บจริงบวกเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี และหากสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯแล้ว ไม่สามารถส่งชำระหนี้ต้นเงินกู้ตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด ให้เรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินส่วนที่มิได้ชำระตามกำหนดนั้นในอัตรา MLR บวก Risk Premium1 บวกเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
3. การดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง จะดำเนินโครงการต่อไปได้ต่อเมื่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอโครงการฯ ที่ กทบ. เสนอต่อ ครม. แล้ว
4. แผนโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง
คาดว่า จะช่วยยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชนให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว ดังนี้
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแผนคาดการณ์ว่า จำนวนโคที่สามารถทำให้สมาชิกกองทุนฯ ชำระคืนเงินกู้ได้ในอนาคต คือ การเลี้ยงแม่โค 2 ตัว ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง กรณีเกิดความเสียหายกับโคที่สมาชิกนำมาเลี้ยง
อีกทั้ง ในช่วงเวลา 1 ปีแรกของการเลี้ยงแม่โคซึ่งได้รับการผสมเทียมจะตกลูกอย่างน้อย 1 ตัว
และหากเป็นลูกโคตัวผู้ สมาชิกกองทุนฯ อาจเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในปีที่ 3 ราคาประมาณตัวละ 20,000 - 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของโค ซึ่งในปีที่ 3 สมาชิกกองทุนฯ ต้องชำระคืนเงินดอกเบี้ยให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ หรือหากเป็นโคตัวเมีย ผู้เลี้ยงโคอาจเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์สำหรับการผสมเทียมในปีถัดไปได้
นอกจากนี้ สมาชิกกองทุนฯ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายมูลโคแห้ง ประมาณ 6,000 บาทต่อตัว อย่างไรก็ตามสมาชิกกองทุนฯ ที่เลี้ยงโคจะสามารถจำหน่ายโคได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป
ขณะที่โครงการเติมเงินหมื่นดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่เห็นแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรเช่นนี้เลย
5. บรรทัดฐานอันตราย : สั่งเอาเงิน ธ.ก.ส. มาสนองนโยบายการเมือง
เปรียบเทียบกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ที่รัฐบาลระบุว่าเงินส่วนหนึ่งมาจาก ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อย่าลืมว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรภายใต้กรอบ พ.ร.บ. ธ.ก.ส.
ที่ผ่านมา มีโครงการของรัฐบาล ที่ ธ.ก.ส.ได้เข้าไปสนับสนุน ทั้งในมิติของการให้สินเชื่อและเป็นแหล่งทุนในการดำเนินการ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการบริหารสภาพคล่อง ความเสี่ยง และความเข้มแข็ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน
ในขณะที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นโครงการแจกเงิน ตามนโยบายหาเสียง ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรแต่แรก โดยคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะแจกเงินผ่านการจัดทำระบบ Super App ของรัฐบาล
ระบุถึงแหล่งเงินที่จะใช้ โดยเงินมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ไม่ได้เกี่ยวกับการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่เป็นการแจกเงินตามนโยบายหาเสียง เพียงแต่หวยมาออกตรง ธ.ก.ส. เพราะรัฐบาลต้องหาเงินมาให้ครบ 5 แสนล้านบาท
ปัจจุบัน โครงการตามนโยบายของรัฐ ที่ ธ.ก.ส.เข้าไปดำเนินการแล้ว มียอดเงินที่รัฐบาลยังไม่ได้ชดเชยคืน ธ.ก.ส. ค้างอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นหนี้จากโครงการจำนำข้าวเหลือประมาณ 2 แสนล้านบาท) ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ ธ.ก.ส.ไปกู้ยืมมาอีกทอด (ซึ่งมีดอกเบี้ยเงินกู้) เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการตามใบสั่งรัฐบาล
โครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) รัฐบาลจะให้ ธ.ก.ส.หาเงินมาดำเนินโครงการอีกกว่า 1.72 แสนล้านบาท ไม่ใช่สินเชื่อแก่เกษตรกร แต่เป็นเงินแจกให้เปล่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีหลักประกันเกี่ยวกับการสร้างอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพการเกษตรใดๆ
ถ้าปล่อยให้เกิดบรรทัดฐานว่า ฝ่ายการเมืองสามารถสั่งให้ ธ.ก.ส. เอาเงินมาทำโครงการตามใบสั่งได้โดยไม่มีขอบเขตชัดเจน นับว่าอันตรายมาก
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี