กว่า 970 ล้านคนทั่วโลกที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งถือเป็นประชากร 1 ใน 8 ของประชากรทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับวิกฤตCOVID-19 ที่ส่งผลให้คนเกิดภาวะความเครียดและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พบผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการมากขึ้น จากจำนวน1.3 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และพยายามหาแนวทางในการป้องกัน และการแก้ไข
หากทุกคนหันมามองสถานการณ์ในสังคมไทยจะเห็นได้ว่า เราทุกคนอยู่ในสังคมที่สะสมความเครียด ความวิตกกังวลในจิตใจอยู่ตลอดเวลา และผู้ป่วยสุขภาพจิตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโรคซึมเศร้า (Depression) ถือเป็นโรคทางจิตเวชอันดับ 1ที่คนไทยเป็น ซึ่งจากข้อมูลศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต พบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 1.5 ล้าน ซึ่งในผู้ป่วย 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาได้เพียง 28 คนเท่านั้น และในรายที่รุนแรงจะนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตาย และความอันตรายคือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า โดยคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คนต่อปี ด้วยสาเหตุหลัก คือ ภาวะซึมเศร้า
จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่าจำนวนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจที่แตกต่างกัน ซึ่งถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล และหลายคนอาจคิดว่าเป็นปัญหาปัจเจก แต่จริงๆ แล้วมันกลับส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระดับสังคมด้วย เช่น อัตราการเกิดอาชญากรรมภายในสังคม ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิตและการเข้าถึงบริการและการรักษาจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการยกระดับและเร่งแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
แต่รอนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนจิตใจ เมื่อการรักษาสุขภาพจิต เข้าถึงได้ยากและใช้เวลานานเกินกว่าจะรอไหว
ท่ามกลางสถานการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยกลับยังเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพจิตได้ยากและไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันมีการกำหนดให้ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์หรือจิตแพทย์ก่อนถึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ จำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นแต่จำนวนจิตแพทย์ที่มีไม่เพียงพอกับการรักษา เพราะมีจิตแพทย์อยู่เพียง 845 คนเท่านั้น หรือ 1.28 คนต่อ 1 แสนประชากร
ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการพัฒนาเพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ด้วยที่จิตแพทย์มักจะกระจุกตัวอยู่ตามจังหวัดใหญ่ เช่น ในกรุงเทพฯ ที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ถึง 275 คน ซึ่งหากเทียบกับจังหวัดในเขตอีสานตอนบนที่มีอยู่เพียง 27 คนเท่านั้นก็จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก นอกจากปัญหาในการเข้าถึงเชิงพื้นที่ และสัดส่วนของจิตแพทย์ต่อจำนวนประชากรแล้ว ยังพบปัญหาในแง่ของระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการรักษาด้วยเช่นกัน เพราะหากอยากพบจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลรัฐก็ต้องต่อคิวและใช้เวลาในโรงพยาบาลมากกว่า 5 ชั่วโมง บางที่ต้องรอนัดแพทย์ถึง 6 เดือนหรือข้ามปีถึงจะได้รับการวินิจฉัยและทำการรักษา แต่ถ้าจะไปโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง อัตราการเข้าพบแพทย์ราว 1,000-5,000 บาท ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้ไม่เอื้อกับการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีคุณภาพ และทันท่วงทีทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพียง 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่มีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคน
พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตป้องกันหัวใจที่ร่วงหล่น
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาท้าทายระดับสากล และทั่วโลกยังคงหาแนวทางในการรับมือกับโรคทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ดูแลนอกเหนือจากในโรงพยาบาล และมีทางเลือกที่หลากหลายให้กับกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น เช่น การเข้าถึงการปรึกษาหรือการรักษาผ่านแอปพลิเคชั่น และแนวคิดที่สำคัญคือการดูแลไปทีละขั้น ตั้งแต่การส่งเสริมให้ทุกคนสามารถดูแลจิตใจของตัวเองได้ การมีนักบำบัดขั้นต้นและนักจิตวิทยาที่เข้าถึงได้ง่ายและใกล้บ้านเพื่อช่วยดูแลอาการเจ็บป่วยทางใจตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยไทยสามารถนำแนวคิดมาปรับใช้ได้โดยการส่งเสริมให้มีคลินิกจิตเวชระดับชุมชนเชิงรุกมากยิ่งขึ้น พัฒนาแพลตฟอร์มในการตรวจจับปัญหาสุขภาพจิตในระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนี้จากปัญหาจิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษา ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมถึงเพิ่มการกระจายบริการให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าหากเกิดขึ้นได้จริงจะส่งผลดีให้กับประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ควรมีแนวทางในการส่งเสริมบทบาท สนับสนุนทรัพยากร ระยะเวลาการทำงาน และค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่นักวิชาชีพจิตวิทยาสาขาต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และสร้างแรงจูงใจให้แก่คนทำงานด้วยเพราะถึงแม้จิตแพทย์จะมีหน้าที่รักษาใจผู้อื่นแต่ก็ต้องเยียวยาหัวใจตัวเองด้วยเช่นกัน
พัฒนาเมืองพร้อมโอบรับสุขภาพจิตที่ดีกว่าเดิม
นอกจากการเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพจิตแล้ว สภาพแวดล้อมภายในเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงควรมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี เพิ่มพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน มีพื้นที่ให้คนที่ใช้ชีวิตคนเดียวได้พบปะกับคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้เพราะปัญหาที่ประชาชนต้องพบเจอในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นความกดดันในการใช้ชีวิตและการทำงาน ความยากจน มลภาวะต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่อาการป่วยทางจิตได้ หากเรามีพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มมากขึ้นก็อาจทำให้เราได้หยุดพักจากความเร่งรีบ ได้ใช้เวลาสร้างความสุขและเพิ่มพลังใจให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น
“ปัญหาสุขภาพจิต” จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะหากผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และทันท่วงที หรือมีเมืองที่พร้อมจะโอบรับการใช้ชีวิตของประชนได้ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาวะของประชาชน รวมถึงปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจที่อาจยากเกินแก้ไข
ดังนั้นเราควรตั้งคำถาม และตั้งความหวังว่าในอนาคตระบบสาธารณสุขไทยและเมืองของเราจะโอบรับหัวใจของประชาชนที่ยังมีความหวังได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ควรมีใครต้องร่วงหล่นหายไปอีก
แหล่งข้อมูล
(1) ไทยพีบีเอส (Thai PBS). ผู้ป่วยจิตเวชพุ่งสูง! จิตแพทย์ไม่พอเฉลี่ย 1.25 คนต่อแสนคน. เว็บไซต์: https://www.thaipbs.or.th/news/content/341609
(2) Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง! หลังโควิด แต่ “จิตแพทย์” กลับขาดแคลน ล่าสุดเกือบ 7 ล้านคนเข้าไม่ถึงการรักษา. เว็บไซต์: https://www.hfocus.org/content/2024/07/30948
(3) Sorravit Ma. พื้นที่สีเขียวช่วยเยียวยาสุขภาพกายและจิตใจ. เว็บไซต์: https://www.sdgmove.com/2021/07/20/green-spaces-and-health/
(4) Thai PBS Policy watch จับตาอนาคตประเทศไทย. สุขภาพจิตคนไทย แย่แค่ไหนจากข้อมูล. เว็บไซต์: https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-6
(5) Urban Creature. Healthy City จำลองเมืองสุขภาพดีให้คนสุขภาพดีตามแบบฉบับ WHO. เว็บไซต์: https://urbancreature.co/healthy-city-by-who/
ฤทัยชนก สิงหเสนี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี