ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จริงหรือ
อะไรคือการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย กับระบอบประชาธิปไตยแบบยุโรปตะวันตกเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
แล้วตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในประเทศไทย (สยาม) จากวันนั้นจนถึงบัดนี้ ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จริงหรือ
คำถามแบบนี้วนเวียน เวียนวนมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนได้ จะมีก็เพียงแค่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ยึดกุมอำนาจรัฐไว้ได้ มักจะอ้างว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็จะมีเงื่อนไขต่อท้ายคือประชาธิปไตยแบบไทย
ถามต่อไปว่าประชาธิปไตยแบบไทย กับประชาธิปไตยแบบยุโรปตะวันตก ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ทำไมในเมื่อไทยรับเอาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้ แล้วทำไมไทยจึงไม่มีประชาธิปไตยแบบตะวันตก
หากถามเช่นนี้ ก็ต้องถามกลับว่า แล้วคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเมือง วัฒนธรรมการเมืองของไทยเป็นเหมือนกับพฤติกรรมการเมือง และวัฒนธรรมการเมืองแบบคนในยุโรปตะวันตกหรือไม่
ต้องถามต่อไปด้วยว่า คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย จริงแท้แค่ไหน แล้วคนไทยส่วนใหญ่ต้องการระบอบประชาธิปไตย จริงๆ หรือ
มีคำถามว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยชอบการเป็นอภิสิทธิ์ชนใช่ไหม คนไทยจำนวนไม่น้อยชอบการมียศถาบรรดาศักดิ์ มียศมีตำแหน่ง ชอบเป็นเจ้าคนนายคน ชอบเรื่องพรรคพวกเส้นสาย ใช่หรือไม่
หากคนไทยจำนวนไม่น้อยยังชอบเป็นอภิสิทธิ์ชน ชอบการเป็นเจ้าคนนายคน ชอบเล่นเส้นเล่นสาย ก็ไม่ต้องถามต่อไปว่าแล้วสังคมไทยจะศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร
เรามีนักการเมืองมานาน 90 ปีแล้ว แล้วเรามีข้อสรุปหรือไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ของไทยดีหรือเลว สุจริตหรือฉ้อฉล ตั้งใจทำงานเพื่อสังคม เพื่อสาธารณชน หรือเพื่อตนเอง และพวกพ้องของตนเอง แล้วที่สำคัญคือคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้ว่านักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ เป็นคนที่ไม่มีความน่าเคารพศรัทธา แต่ทำไมคนไทยยังยอมยกมือไหว้นักการเมืองที่ตนเองมองว่าไม่น่าเคารพ ไม่น่าศรัทธา
ประเทศไทยมีพรรคการเมืองมากมาย มากเสียจนคนไทยไม่สามารถจดจำชื่อพรรคการเมืองได้หมด พรรคการเมืองบางพรรคตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มผู้ตั้งพรรค แต่ก็ยังพอจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ตั้งโดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ แต่เมื่อดูให้ลึกแล้วก็จะพบว่าเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปจริงๆ ก็ไม่พบว่าพรรคการเมืองที่ชอบโฆษณาชวนเชื่อว่าตั้งใจทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ จะตั้งอกตั้งใจทำเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ แต่กลับพบว่าใช้พรรคการเมืองเป็นฐานเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองนับเป็นกลุ่มผลประโยชน์ชนิดหนึ่ง แต่พรรคการเมืองไทยบางพรรคมีพฤติกรรมเป็นกลุ่มอิทธิพล (นักเลงหัวไม้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ มาเฟีย) มากกว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในนิยามเชิงบวก ถามว่าคนไทยรู้ไหมว่าพรรคการเมืองพรรคไหนบ้างมีพฤติกรรมเข้าข่ายมาเฟีย กลุ่มผู้มีอิทธิพลเถื่อน ตอบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้ดี แต่ก็หาได้คัดค้านพรรคการเมืองจำพวกมาเฟียไม่ แต่กลับมีคนไทยจำนวนไม่น้อยยอมตัวสวามิภักดิ์กลุ่มการเมือง นักการเมืองในพรรคการเมืองมาเฟียด้วยซ้ำไป โดยอ้างว่า พี่เขาดี พี่เขาช่วยเหลือพวกเรา พวกเราอยู่ได้เพราะพี่เขาช่วยเหลือ
คราวนี้มาดูคำนิยามของพรรคการเมืองกันบ้าง
มีการนิยามคำว่าพรรคการเมืองไว้ดังนี้ พรรคการเมืองคือกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์การเมืองแบบเดียวกันหรือสอดคล้องกัน แล้วรวมตัวร่วมกันจัดตั้งกลุ่มและจดทะเบียนพรรคการเมืองตามข้อบัญญัติของกฎหมาย
เมื่อดูคำจำกัดความของพรรคการเมืองที่ระบุในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
เพราะฉะนั้น จึงสามารถระบุได้โดยรวมว่า พรรคการเมืองคือการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นทางการเมือง หรืออุดมการณ์การเมือง โดยรวมตัวกันเพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมการเมือง โดยต้องผ่านการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นก่อนเป็นสำคัญ
ประเภทของพรรคการเมือง มีดังนี้ พรรคแบบชนชั้นนำ กับพรรคแบบมวลชน ตัวอย่างของพรรคชนชั้นนำคือ พรรคนาซี พรรคฟาสซิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ มีลักษณะสำคัญคือเป็นพรรคที่มีผู้มีอำนาจในพรรคเพียงไม่กี่คน และสามารถครอบงำบงการความคิดเห็นของผู้คนได้ และบงการการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพรรคได้ โดยที่สมาชิกพรรคแทบไม่มีบทบาทใดๆ ในพรรค ส่วนพรรคแบบมวลชนคือพรรคที่พยายามขยายฐานสมาชิกให้กว้างและมากที่สุด โดยหากสามารถขยายได้ครอบคลุมทั้งประเทศก็ยิ่งดี แล้วอนุญาตให้สมาชิกพรรคร่วมมีบทบาทภายในพรรค พรรคการเมืองแบบมวลชนมักจะพบเห็นได้ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกในยุคปัจจุบ้น
นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองแบบ พรรคเพื่อตัวแทน พรรคเพื่อความเป็นเอกภาพ พรรคตามรัฐธรรมนูญ พรรคปฏิวัติ พรรคฝ่ายซ้าย พรรคฝ่ายขวา (สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพรรคแบบต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากตำราหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น)
ต้องย้ำว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองมานานเกือบศตวรรษ โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (แต่บางตำราอ้างว่ามีแนวคิดตั้งพรรคการเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว) โดยประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นโดยประชาชนกลุ่มต่างๆ และตั้งขึ้นโดยขุนทหาร และตั้งขึ้นโดยนักการเมืองเก่าที่พยายามยึดยุดอำนาจรัฐไว้ในมือของตัวเองให้ยาวนานที่สุด
มีคำถามว่าเมืองไทยมีพรรคการเมืองกี่พรรค ตอบว่า มีมากกว่าหนึ่งร้อยพรรค แต่ขอบอกว่าไม่จำเป็นต้องจำชื่อพรรคการเมืองของไทย เพราะบางพรรคก็อายุสั้นมาก บางพรรคก็เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่การสนับสนุนพัฒนาการการเมืองไทย แล้วที่สำคัญคือพรรคการเมืองไทยนั้นเกิดง่ายแล้วก็ตายง่ายมาก โดยเฉพาะพรรคที่มีกำเนิดจากพรรคที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย หรือเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจเฉพาะกาล พรรคแบบที่ว่านั้นจึงเกิดง่ายตายเร็ว
ที่มีคำถามว่าพรรคการเมืองไทยปราศจากอำนาจควบคุมของกลุ่มผลประโยชน์หรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะทุกพรรคล้วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้น แล้วที่สำคัญก็ยังพบอีกว่า พรรคการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยเกิดมาจากกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งแบบเปิดหน้าให้เห็นชัดๆ หรือจำพวกแอบแฝง (อีแอบ)
ที่นี่ประเด็นที่จะนำมาพูดกันในช่วงต่อจากนี้คือ พรรคการเมืองถูกยุบได้หรือไม่ ตอบว่าได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจสั่งยุบเลิกพรรคการเมืองได้ โดยมีเงื่อนไขต่างๆ กันไป ตามแต่ยุคสมัย แต่ก็ต้องยืนยันว่า พรรคการเมืองถูกยุบได้ เพราะเมื่อตั้งได้ ก็ต้องถูกยุบได้ไม่เคยมีข้อบังคับใดตราไว้ว่าไม่สามารถยุบพรรคการเมืองได้
ถามต่อไปว่าทำไมพรรคการเมืองไทยจึงถูกยุบได้ ตอบว่า เพราะพรรคการเมืองนั้นทำผิดกฎหมาย เมื่อทำผิดกฎหมาย ก็ถูกยุบได้ตามอำนาจของกฎหมาย ส่วนข้ออ้างว่าพรรคการเมืองไม่มีชีวิต จึงไม่ควรยุบพรรคการเมือง ก็ต้องตอบว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายความเสมือนว่าเป็นบุคคลด้วย เพราะพรรคการเมืองมีคนเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าของพรรคผู้ก่อตั้งพรรค หัวหน้าพรรค เลขาฯ พรรค กรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค เป็นต้น เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ของคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จึงทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิเสธผลของการกระทำโดยบุคคลได้ ดังนั้น เมื่อคนของพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายใดๆ อันเกี่ยวข้องแล้วนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ก็จึงทำให้พรรคการเมืองถูกยุบได้ ย้ำว่ายุบพรรคการเมืองได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้
แต่การอ้างว่าไม่ควรยุบพรรคการเมือง แต่ควรลงโทษบุคคลเป็นรายตัวไป ก็เป็นข้ออ้างที่ดูเสมือนว่าจะพอฟังได้ แต่ทว่าฟังไม่ขึ้นในทุกกรณี เพราะในเมื่อคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรค แล้วพรรคก็ดำเนินนโยบายไปตามการกระทำของคนในพรรค โดยเฉพาะแกนนำพรรค ดังนั้นเมื่อมีการกระทำผิดใดๆ โดยคนที่เป็นแกนนำพรรค ก็จึงหมายความว่าพรรคก็ถูกพิจารณาว่ากระทำผิดไปด้วย การอ้างว่าประเทศในยุโรป หรือประเทศที่เจริญแล้วไม่มีการยุบพรรคการเมือง ก็เป็นคำอ้างที่ถูก แต่เหตุที่เขาไม่ยุบพรรคก็เพราะพรรคการเมืองไม่ได้กระทำผิด
ไม่มีใครปฏิเสธว่าพรรคการเมืองไม่มีชีวิต แต่เพราะพรรคการเมืองตั้งขึ้นโดยคน และบริหารโดยคน แล้วพรรคการเมืองก็เป็นนิติบุคคล เมื่อคนในพรรค โดยเฉพราะแกนนำพรรคกระทำผิดในนามของพรรค เพราะใช้ชื่อพรรคในการกระทำ ดังนั้นก็จึงทำให้พรรคต้องรับผิดชอบด้วย
การที่คนของพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกระทำในนามของพรรคการเมือง ซึ่งนับเป็นความผิดตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความผิดทั้งปวงนั้นได้ถูกระบุอย่างชัดเจนโดยศาลรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าเป็นการกระทำผิดทั้งโดยพรรคและบุคคลของพรรค และเมื่อกระทำความผิดจริง โดยมีข้อบัญญัติของกฎหมายตราไว้ ก็จึงเป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นการกระทำผิดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ใครก็ตามที่อ้างว่าไม่ควรยุบพรรค การยุบพรรคเป็นการทำลายประชาธิปไตย ก็ต้องบอกว่าเป็นการอ้างแบบไม่ดูข้อเท็จจริงของกฎหมาย ถามว่าเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องถูกลงโทษหรือ การไม่ทำตามกฎหมายคือการรักษาประชาธิปไตย เช่นนั้นหรือ
แน่นอนว่าพรรคการเมืองมีสิทธิ์ขายนโยบายเพื่อให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องสำเหนียกไว้เสมอว่า นโยบายใดๆ ที่พรรคการเมืองจะนำไปขายเพื่อหาคะแนนนิยม ต้องไม่ใช่การขายนโยบายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายในบ้านเมือง การอ้างว่าขายนโยบายล้มมาตรา 112 เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองกระทำได้ เป็นข้ออ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อกระทำผิดกฎหมายก็ต้องรับโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นการพิจารณายุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วตามหลักของกฎหมาย
การพยายามยกเลิกมาตรา 112 เป็นความพยายามประการหนึ่งของการพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการรื้อทำลายเกราะป้องกันชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยป้องกันการทำลายพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินีองค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การปล่อยให้มีผู้พยายามล้มล้าง เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยกลอุบายใดๆ ก็ตาม ก็หมายถึงการปล่อยให้ทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ได้โดยปริยาย เพราะฉะนั้น จึงชอบธรรมตามหลักของกฎหมายแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องลงโทษพรรคการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองที่มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ หากมิฉะนั้นแล้วก็จะเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจโดยชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วยังเท่ากับสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
การยุบพรรคการเมืองที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสรรเสริญ การพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเท่ากับย้ำยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และดูแลอย่างดียิ่ง เพราะเป็นสถาบันหลักหนึ่งในสามของสถาบันสำคัญของประเทศไทย คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี