ในขณะที่บทความนี้ลงตีพิมพ์ ประเทศไทยคงมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ไปเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นใครก็คงจะทราบกันแล้ว และนั่นก็เป็นผลมาจากการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น.
โดยในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อตอนบ่ายวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และมีการกำหนดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น.
เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดย สว. ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนครั้งก่อน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะ และการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องมีเสียงเกินครึ่งคือ 251 เสียง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และในสถานการณ์เช่นนี้พรรคประชาชนได้แสดงท่าทีงดออกเสียงให้ปรากฏมาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567
หมายความว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เมื่อพรรคประชาชนมีท่าทีงดออกเสียงแล้ว คะแนนเสียงที่เหลืออยู่ ใครสามารถรวบรวมได้มากกว่ากันก็มีโอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรี
ก็เป็นที่คาดกันในขณะนั้นว่า พรรคเพื่อไทยมีเสียงในสภาเพียง 141 เสียง ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์
มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันถึง 171 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีแค่ 141 เสียง และถ้าโหวตแข่งกันในระดับนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มพรรคดังกล่าวจะสามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้ และจะทำให้พรรค
เพื่อไทยกลายเป็นฝ่ายค้าน
ส่วนพรรคประชาชนนั้นแม้จะไม่ใช่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง เพราะเมื่อรัฐบาลตั้งขึ้นแล้ว การจะมีมติผ่านร่างกฎหมายหรือมติสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องอาศัยเสียงข้างมาก และถ้าพรรคประชาชนไม่เห็นด้วยรัฐบาลก็จะแพ้มติอันจะนำไปสู่การยุบสภา ดังนั้นอำนาจต่อรองที่ไร้เงาจากการไม่ลงคะแนนเสียงจึงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
และส่งผลให้การเมืองของประเทศไทยพลิกขั้วจากพรรคเพื่อไทยเป็นขั้วอื่นได้ อาจมีผลทำให้ประเทศออกจากวิกฤตที่รุนแรงและไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยปกติได้ แต่การจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ต้องดูผลจากการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันนี้ก็คงทราบผลแล้วว่าเป็นประการใด
ดังนั้นถ้านายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นสากลและสง่างามน้อยกว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั่นเพราะพื้นฐานหน้าที่การงานดั้งเดิมและความเป็นสากลเฉพาะตัว มิหนำซ้ำอาจทำให้คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยต่ำเตี้ยลงมาอีก แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้วทั้งสองเรื่องนี้แม้รวมกับเรื่องที่จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันและไฟฟ้าได้อีกเลย ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการถือครองอำนาจรัฐไว้ เพราะเป็นเรื่องเดียวที่จะค้ำจุนความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ได้
และอาจมีโอกาสที่จะดำเนินเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามที่มีข่าวออกมาเมื่อสี่เดือนก่อน จนกระทั่งเป็นที่มาของความสงสัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดที่มีการเสนอเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ใครก็ไม่รู้เป็นวาระลับและวาระจร ซึ่งอาจเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้
ดังนั้นการได้ครองอำนาจรัฐโดยไม่ต้องคำนึงถึงอนาคตและผลบั้นปลายจึงเป็นความจำเป็นของพรรคเพื่อไทย ในขณะเดียวกัน ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างก็มีแผลใจกันอยู่กับพรรคเพื่อไทยเพราะรู้ตัวว่าเป็นเป้าหมายที่จะถูกปรับกระทรวงที่ได้รับจัดสรรกันมาก่อน กระทั่งถึงขนาดจะทำลายบางพรรคการเมืองให้เป็นสองซีกสองเสี้ยว
พรรคประชาชนคงเห็นสภาพเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อไม่มีความประสงค์ที่จะโหวตให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงมีมติงดออกเสียงตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าพรรคประชาชนเปิดโอกาสให้สองขั้วทางการเมืองต่อสู้กันโดยธรรมยุทธ์ ส่วนพรรคประชาชนก็จะงดออกเสียง
บิสมาร์ค วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเยอรมันเคยกล่าววาทกรรมลั่นโลกไว้ว่า The great question are not designed by speech or majority vote but by blood and iron. ซึ่งในอดีตแปลกันว่าปัญหาใหญ่ของประเทศชาติไม่สามารถแก้ได้ด้วยการอภิปรายโต้เถียงหรือโดยเสียงข้างมาก แต่จะแก้ไขได้โดยใช้ความรุนแรงและสงคราม และเป็นที่มาของการปลูกฝังทัศนคติเลือดและเหล็กให้กับชาวเยอรมัน จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ต่อมาได้มีผู้แปลคำพูดของบิสมาร์คดังกล่าว โดยอาศัยแนวคิดตามคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง ว่า ปัญหาหรือเรื่องใหญ่ของชาติบ้านเมืองและประชาชนนั้นจะแก้ได้ด้วยการไม่กระทำหรือโดยไม่ทำสงคราม และในปัจจุบันนี้ก็หมายความรวมถึงการงดออกเสียงด้วย
เป็นเหตุให้มีการอธิบายคัมภีร์พิชัยสงครามบทว่าด้วยการได้ชัยชนะที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ ชัยชนะที่ได้มาโดยไม่ต้องรบ ซึ่งเหมา เจ๋อ ตุง ได้กระทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในสงครามปลดแอกประเทศจีนในยุทธการผิงจิน หรือยุทธการที่เข้ายึดกรุงปักกิ่งและเมืองเทียนสินโดยไม่ต้องรบ ถึงขนาดที่ว่าแม้กระเบื้องหลังคาเทียนอันเหมิน หลังคากู้กง ก็ให้ตกลงพื้นไม่ได้
สำหรับในทางการเมืองนั้น คนทั้งหลายก็จะรู้และเข้าใจเหมือนกันเกี่ยวกับสิทธิออกเสียงหรือสิทธิในการลงคะแนนเสียง และเข้าใจถึงพลังและอำนาจของจำนวนเสียงที่มีและเสียงที่ลงคะแนนนั้น แทบไม่มีใครสนใจการงดออกเสียงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลย ทั้งที่แท้จริงแล้วนั่นคือสิ่งที่คัมภีร์เต๋าเต๊กเก็งเรียกว่าวิถีแห่งเต๋า หรือที่มีการแปลในภายหลังว่าการเอาชัยชนะโดยไม่ต้องรบ
ดังนั้นการที่พรรคประชาชนแสดงท่าทีว่าจะงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการใช้พลังอำนาจของการไม่กระทำหรือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องรบนั่นเองแต่จะบังเกิดผลเพียงใดหรือไม่ก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมอย่างอื่นประกอบอีกด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี