นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 400 บาท รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์จะเอาอย่างไร?
1. ในรัฐบาลเศรษฐา ประกาศว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค. 2567
ที่ผ่านมา มีเสียงคัดค้านจากภาคเอกชน
การประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หลังจากนั้น กกร.กลุ่มจังหวัดแสดงจุดยืนของ กกร.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดครบ 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567
รายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด มีอย่างน้อย 23 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท เช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี
บางจังหวัด เสนอให้มีผลบังคับใช้เดือนม.ค.2568
มีแค่ 3 จังหวัด ที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะเอาอย่างไร?
2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท จะกระทบกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และได้รับผลกระทบจากการที่มีสินค้าราคาถูก และนำเข้าผิดกฎหมายเข้ามาตีตลาดเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลจะเอาอย่างไร?
3. ในความเป็นจริง คนที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ คือ ผู้ประกอบการเอกชน
กลไกตามกฎหมาย จึงให้สามฝ่ายร่วมกันพิจารณา
หากถูกบังคับจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ สิ่งที่เอกชนจะทำ คือ
ลดจำนวนแรงงานที่จ้างลง เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต ไม่ให้สูงกว่าเดิมจนเกินรับไหว
ลดจำนวนการจ้างงาน หันไปใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน เช่น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ฯลฯ คุ้มค่ากว่า
ไม่ใช่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น รวมถึงภาคการเกษตรด้วย
ขณะเดียวกัน แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทย ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด
นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ก็จะหมายถึงความสามารถในการแข่งขันเมื่อส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ ราคาก็จะสูงขึ้น แล้วจะยังรักษาตลาดไว้ได้หรือไม่ แค่ไหน ?
หากแบ่งตามภาคธุรกิจ เช่น
โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การเงิน ผู้ประกอบการเกินร้อยละ 60ไม่ได้มีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน (10,400 บาทต่อเดือน) จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก
กลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน จึงน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า
ข้อมูลสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ระบุว่า ผลกระทบโดยตรงนั้น จะเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นของกลุ่มลูกจ้างที่เคยได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันซึ่งมีผู้ประกอบการร้อยละ 60 หรือประมาณ 25,000 รายที่น่าจะได้รับผลกระทบแน่ๆ แต่อาจจะมีผลกระทบทางอ้อมถึงลูกจ้างกลุ่มอื่นๆ ด้วย
ธุรกิจบางรายอาจจำเป็นต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่นๆ ในบริษัทให้สูงขึ้นตามกันไปด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงผลิตภาพ หรือความสามารถที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น หากเดิมเคยมีลูกจ้างอยู่สามกลุ่มและได้เงินเดือน 8,000, 10,400, และ 15,000 บาท ตามระดับความสามารถ หากปรับเงินเดือนของลูกจ้างกลุ่มที่เคยได้ต่ำที่สุดขึ้นมาเท่าลูกจ้างกลุ่มตรงกลาง ก็น่าจะมีความจำเป็นที่ต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มตรงกลางให้สูงขึ้นด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน..”
ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า มีผลกระทบตามมา ทั้งทางตรง และทางอ้อม
น่าคิดว่า บทเรียนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ หลังขึ้นค่าแรงในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างไร?
4. ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทในช่วงเดือนตุลาคม 2567
โดยกระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ และจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่ทางกระทรวงแรงงานตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่ 400 บาท
รมว.แรงงาน ระบุว่า เบื้องต้น จะมุ่งเน้นผู้ประกอบการรายใหญ่
“การที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตรงนี้ ความรอบคอบของกระทรวงแรงงาน โดยศึกษาถึงผลกระทบว่า เมื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำในสภาวะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยเราคงทราบดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว เพราะฉะนั้น ผมให้นโยบายไปกับปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าจะต้องพิจารณาและหาผู้ที่ให้ข้อมูลในเชิงวิเคราะห์ให้ได้มากที่สุด
จากการวิเคราะห์และศึกษาร่วมกับทางประกันสังคม มีข้อสรุปออกมาว่า การที่เราจะประกาศค่าแรงขั้นต่่ำที่ 400 บาท โดยจะไปดูในเรื่องของไซส์แอล คือ จะเอาเกณฑ์ที่มีสถานประกอบการที่มีผู้ใช้แรงงานหรือมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป นี่เป็นบทสรุป ซึ่งท่านปลัดจะต้องนําเรื่องต่างๆ เหล่านี้เข้าไปหารือกับทางสภาพัฒน์ แล้วไปหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง” รมว.แรงงานกล่าว
ข้อสรุปเฉพาะของประกันสังคมว่า จะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยลดการนําส่งสําหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2567 ไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2568 เป็นเวลา 12 เดือน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนในของ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ซึ่งเมื่อมีลูกจ้างต่ำกว่า 200 คน เราจะไม่ไปกระทบ แต่จะต้องหาวิธีการว่าจะทําอย่างไรให้ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานมากกว่า 90% ให้ยืนต่อไปได้ จนกว่าเราจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปกว่านี้ มั่นใจว่า การที่มีรัฐบาลใหม่ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งในความเป็นคนรุ่นใหม่ เชื่อในความคิดใหม่ๆ ของผู้นําท่านใหม่ว่าสามารถที่จะพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราไปได้
“กระทรวงแรงงานจะเสนอให้กระทรวงการคลังไปดูมาตรการต่างๆ ว่าเมื่อ พ.ศ.2555 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 300 บาทว่ามีมาตรการทางกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เราจะหารือกระทรวงคลังและนํามาปฏิบัติอีกครั้ง และจะนําเสนอว่าจากการที่คุณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเอาส่วนที่เกินก่อนหักภาษี 1.5 เท่า มาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการบรรเทาเรื่องการชําระภาษี ส่วนมาตรการอื่นๆ คงจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาและประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง
… ได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาเอาเงินก้อนหนึ่งเข้าไปเพื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ในการที่จะไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาในสิ่งต่างๆ เท่าที่เราคิดว่าเราทําได้ แต่เป็นเงินจํานวนเท่าไหร่ ต้องขอหารือกันอีกครั้งว่าภาพรวมผู้ที่จะเข้ามา และผู้ที่ขาดสภาพคล่องที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นเป็นวงเงินเท่าไหร่..”
5. สุดท้าย จะต้องติดตามว่า รัฐบาลแพทองธาร จะเอาอย่างไร?
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 จะต้องเลื่อนไปก่อนหรือไม่
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี