ขณะนี้ เข้าสู่ห้วงเวลาที่รัฐบาลจะได้บริหารใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2568
1. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท (3.75 ล้านล้านบาท)
ในจำนวนนี้ จัดสรรเป็นรายจ่ายงบกลาง จำนวน 842,001,710,300 บาท (8 แสนล้านบาท)
โดยมีรายจ่ายสำคัญ คือ รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 187,700,000,000 บาท (1.8 แสนล้านบาท)
เงินส่วนนี้ รัฐบาลเดิม ตั้งเอาไว้เป็นแหล่งเงินที่จะทำโครงการเติมเงินหมื่น เงินดิจิทัล วอลเล็ต
2. ขณะนี้ รัฐบาลได้แจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรสิทธิสวัสดิการ
แห่งรัฐ และคนพิการ รวมแล้วกว่า 14 ล้านคน
เป็นเงินแผ่นดินที่แจกจ่ายไปแล้ว 1.4 แสนล้านบาท ด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชี เป็นเงินสด ประชาชนที่ได้รับจะนำไปใช้จ่ายอะไรก็ได้
บางคน เอาไปใช้หนี้นอกระบบ เอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าเทอมลูก ค่าหวย ซื้อเหล้ากิน รวมถึงต่อยอดลงทุนค้าขายก็มีบ้าง ฯลฯ
นับเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการแรก โดยรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ 1
แต่รัฐบาลจะเดินหน้าแจกต่อไปอีก 1.8 แสนล้านบาท หรือไม่?
แม้ตอนนี้ มีเงินเตรียมไว้แล้ว มาจากการขาดดุลเพิ่มเติม (กู้เพิ่ม) ในงบประมาณแผ่นดิน ปี 2568
ถ้าเดินหน้าแจก ทั้งๆ ที่ ระบบดิจิทัล วอลเล็ต ระบบเติมเงิน ชำระเงิน ยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่พร้อมใช้งาน ก็เท่ากับว่า ไม่ได้ช่วยพาคนไทยไปใช้ระบบเงินดิจิทัลอะไรเลย
อันที่จริง 14 ล้านคนที่แจกไปแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ไม่ได้พาไปสู่ระบบดิจิทัลอะไรเลย
ถ้ายังจะแจกอีก 1.8 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่า แจกเงินแบบโปรยทานนี่เอง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ มีสติปัญญา คิดเป็นเท่านี้หรือ?
แจกลูกเดียว
เอาแต่แจก
คิดทำอย่างอื่นไม่เป็น นอกจากแจกเงิน ?
3. นายทักษิณ ชินวัตร หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” เคยโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรายการ CARE Talk เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ว่า
“...เติมเศรษฐกิจให้แข็งแรง
ทำอะไรกระตุ้นเศรษฐกิจ
เอาเงินไปแจก ผมว่าปัญญาอ่อน
ถ้ามีปัญญาเขาไม่แจก เขาใช้เงินไปสร้างเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจแข็งแรง...”
4. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในครม.
คำแนะนำบางส่วน ประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็น ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ระบุว่า
(1) “...ควรทำโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า และควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย...
(2) “...โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11
โดยโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม...
(3) “..การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท...
(4) “...รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่
โครงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์(ใช้วงเงินเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรทางการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
โครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย...”
5. รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ควรพิจารณานำงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน และกู้ยืมมา นำไปใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่าที่จะนำมาแจกแบบอีลุ่ยฉุยแฉก หรือไม่?
รัฐบาลจะต้องช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม มีทั้งผู้ประสบภัย ร้านค้าที่เสียหาย แทบสิ้นเนื้อประดาตัว
รัฐบาลจะต้องช่วยร้านค้ารายเล็กรายน้อยที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากจีน จากการขายของออนไลน์ ร้านค้าเหล่านี้จะได้อานิสงส์โดยตรง หากมีโครงการคนละครึ่ง แบบที่เคยทำในยุครัฐบาลลุงตู่ เพราะเติมกำลังซื้อแก่ประชาชนกลุ่มที่พอมีเงินอยู่บ้าง ให้ใช้จ่ายโดยตรงในบรรดาร้านค้าที่พ่อค้ามีระบบถุงเงิน ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณแผ่นดินน้อยกว่าการแจกแบบโปรยทาน
รัฐบาลควรจะช่วยเพิ่มทักษะแก่ประชาชน ให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเดิม ทั้งทักษะทางออนไลน์ ค้าขาย ทำบัญชี การตลาด การผลิตที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในสินค้าและบริการแขนงต่างๆ ฯลฯ สามารถสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อให้ประชาชนอัปสกิล-รีสกิล ได้อย่างกว้างขวาง และมี
ผลกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว
มีนโยบายของรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ที่น่าสนใจนำมาขับเคลื่อนอย่างจริงจังอีกมากมาย ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้ผู้ประโยชน์อย่างเต็มที่
เงิน 1.8 แสนล้านบาท หากรัฐบาลใช้สติปัญญา หรือระดมความคิดจากพรรคร่วมรัฐบาล จากภาควิชาการ จากภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนสังคมทั่วประเทศ
จะนำเงิน 1.8 แสนล้านไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้ มากที่สุด?
เชื่อว่า จะได้คำตอบที่สร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์คุ้มค่ากว่า นำไปโปรยหว่านแจกแบบเดิม
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ มีสติปัญญาพอที่จะทำ หรือไม่?
หรือสุดท้าย เป็นแค่รัฐบาลคุณหนู ถลุงใช้จ่ายเงินแบบไม่เห็นค่าไปวันๆ ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี