ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...ฉบับคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา
พบว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเห็นชอบ 61 เสียง (เห็นชอบกับการให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น)
ไม่เห็นชอบ 327 เสียง
งดออกเสียง 1 เสียง
และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
โดยเสียงเห็นชอบ ส่วนใหญ่เป็นของสส.พรรคภูมิใจไทย
เนื่องจากขัดกับหลักการตั้งแต่ต้นที่สภาฯต้องการให้การออกเสียงประชามติเป็นแบบเสียงข้างมากปกติชั้นเดียว
อย่างไรก็ตาม พบว่า มีสส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้มาร่วมโหวตจำนวนมาก เช่น พรรคเพื่อไทย 9 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) 25 คน, 20 สส.กลุ่มร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ตอนนี้ไปสังกัดพรรคกล้าธรรม, พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน, พรรคภูมิใจไทย 9 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 6 คน,พรรคประชาชาติ 4 คน, พรรคไทรวมพลัง 2 คน
ส่วนพรรคส้ม มีเพียง 2 คน ไม่ได้ร่วมลงมติ คือนายรัชต์พงศ์สร้อยสุวรรณ สส.ตาก และ รศ.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ
เท่ากับว่า สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเสียงข้างมากยืนยัน แก้ไขการทำประชามติ โดยโหวตลงมติเสียงข้างมากชั้นเดียว
หลังจากหนี้ จะต้องรอ 180 วันตามขั้นตอน เพื่อยืนยันก่อนประกาศใช้
น่าสนใจว่า พลพรรคเพื่อไทยใช้วาทกรรมถล่มพรรคร่วมรัฐบาล สว. และฝ่ายที่สนับสนุนให้การทำประชามติใช้เสียงข้างมากสองชั้นอย่างดุเดือดว่าเป็น “อีแอบขวางแก้รัฐธรรมนูญ”
1. นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคฯ อภิปรายว่า
“ใครยังคิดสนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะถูกครหาหรือไม่ว่า ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญที่คนไทยและนานาประเทศเห็นว่าฉบับปี 2560 เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองไทยในระยะยาว”
นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี กล่าวว่า
“การออกเสียงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้กติกาเสียงข้างมาก 1 ชั้น และเป็นเรื่องง่ายสำหรับพี่น้องประชาชนที่จะมาลงคะแนนเสียงประชามติ เอาคะแนนเสียงข้างมากมาตัดสิน ก็เพียงพอแล้ว เป็นการเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง”
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า
“ตอนที่ฉีกรัฐธรรมนูญทำง่ายแสนง่าย เอาแค่คน 4-5 คนมานั่ง แล้วเขาก็สร้างประติมากรรมคือรัฐธรรมนูญปี’60 ที่มีปัญหา เพราะเวลาจะแก้ไขก็ยากยิ่งยากจริง ยากเกินไป กฎหมายทุกฉบับแก้ไขได้ รัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ไขได้”
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคอภิปรายว่า
“ในหลักการใช้เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถบังคับให้ใครออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองได้ แต่เมื่อมีการลงคะแนนเรื่องใดก็ตามเพื่อกำหนดทิศทางความเป็นไปของประเทศ ผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ของตน ก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ของการโหวตที่ออกมา แม้ตนเองจะสละสิทธิ์ในการไปลงคะแนนเสียงก็ตาม การยอมให้เสียงของผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ มากำหนดผลของทำประชามติ เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง”
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า
“..เสียงประชาชนทำประชามติ ต้องใช้เสียงเบื้องต้น 26 ล้านคน ถ้ามี“อีแอบ” ที่อยู่เบื้องหลังไม่อยากแก้ ไม่อยากให้สำเร็จ ท่านอย่าไปเชื่อตาม สว. ว่า ถ้าทำตามแล้วจะมีรัฐธรรมนูญได้โดยเร็ว อย่าไปเชื่อ ผมเชื่อว่า ถ้าหลงตามเขาก็รอชาติหน้าไม่ต้องแก้”
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า
“การกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมตรงที่คนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกลายเป็นมีพวกมากขึ้นรวมกับผู้ไม่มาลงคะแนน จะกลายเป็น เสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตบ้านเมือง”
2. นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า
“..เราเห็นว่ามีความจำเป็นว่าต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหตุผลเพราะประชาชนตระหนักดีว่าทุกเรื่องที่ต้องทำประชามติสำคัญ และมีผลกระทบทั้งประเทศ จึงต้องการความมั่นใจว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มีปริมาณเพียงพอที่น่าเชื่อถือจริง...
ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ ไม่ให้ออกมาใช้สิทธิ์ก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยในวันนี้ สามารถถูกใครบางคน หรือพรรคบางพรรค ชักจูง ให้สละอำนาจที่พึงมีของเขาได้อีกต่อไป หากเราจะคิดแบบนั้นเรากำลังดูถูกพี่น้องประชาชนชาวไทยมากเกินไปหรือเปล่า ผมไม่อยากเห็นการทำประชามติที่นำไปสู่การกำหนดทิศทางของประเทศที่ขาดความเห็นของคนครึ่งค่อนประเทศ คิดว่ากระบวนการการทำประชามตินั้น เป็นการคืนอำนาจจากสภาตัวแทนไปสู่เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง
...เราจึงมองว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญของประเทศนั้น จะต้องมีเกณฑ์ ถึงจะสามารถสะท้อนความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้
และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้กระบวนการทำประชามตินั้นเป็นเรื่องง่าย สำหรับทุกคน แต่ ต้อง ไม่ใช่เรื่องมักง่าย
หลักการประชาธิปไตยนั้น เป็นการคำนึงถึงความเห็นของทุกคน และถูกตัดสินใจโดยเสียงส่วนมาก เราจึงมองว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญของประเทศนั้น จะต้องมีเกณฑ์ ถึงจะสามารถสะท้อนความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้”
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดอ่างทอง ในฐานะกรรมาธิการร่วม ได้ชี้แจงในสภาว่า
“...เราต้องการที่จะเห็นหลักการที่สำคัญของการทำประชามติ คือ การได้มติที่แท้จริงของประชาชน ที่เรียกว่า ประชามติ เราต้องการเสียงข้างมากจริงๆ จากประชาชนเพื่อที่จะบอกว่า นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ
ทั้งนี้ในร่างที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ จึงเสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติ ควรที่จะให้ประชาชนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งออกมาใช้สิทธิ์เพื่อแสดงเจตจำนงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะขอมติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ
ต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์มาก จนเรียกว่าเป็นฉันทามติของประชาชนได้
แต่สู้ในสภารอบแรกก็ไม่ผ่าน ไปสู้ในชั้นกรรมาธิการก็ไม่ผ่าน ตนแปรญัตติมาสู้ในสภาก็ไม่ผ่าน
..ผมก็เคารพในความเห็นต่าง และเราก็เคารพในฐานะที่เป็นเสียงส่วนน้อย แต่อยากจะใช้โอกาสตรงนี้เพื่อที่จะแสดงจุดยืน และให้เหตุผลกับเพื่อนสมาชิก”
3. น่าคิดว่า ฝ่ายใดกันแน่ที่ทำตัวเป็น “อีแอบ” อ้างประชาชนเพื่ออยากจะแก้รัฐธรรมนูญ ?
กระเหี้ยนกระหือรือถึงขนาดแก้กติกาการทำประชามติ เพราะหวังจะให้ผ่านง่ายกว่าเกณฑ์ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม
จะแก้รัฐธรรมนูญเนื้อหาสาระตรงไหนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ก็ไม่รู้ มีปรากฏ
แบบนี้ “อีแอบ” หรือไม่?
ปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้วันนี้ คือ เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญ ก็ทำไม่รู้
เงินที่จะมาถลุงทำประชาชนนับหมื่นล้านบาทนั้น ลองไปถามประชาชนว่าเอาเงินไปช่วยชาวบ้านจะดีกว่าไหม? กล้าให้ทางเลือกกับประชาชนมั้ยว่า ระหว่างเอาเงินหมื่นล้านมาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ กับเอาเงินหมื่นล้านมาทุ่มแก้เศรษฐกิจ ชาวบ้านจะเอาอะไร?
ในความจริง รัฐธรรมนูญ 2560 ตอนที่ผ่านประชามตินั้น คะแนนเสียงประชาชนเห็นชอบทั้งฉบับและคำถามพ่วง ผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นด้วยซ้ำ
เพราะเหตุนี้หรือไม่ พอนักการเมืองอยากจะแก้ ก็เลยพยายามแก้เกณฑ์ เอาให้ง่ายไว้ก่อน เพราะลึกๆ กลัวว่าประชาชนไม่เอาด้วยกับพวกตนเอง
แบบนี้ “อีแอบ” อ้างประชาชน หรือเปล่า?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี