ในที่สุดก็มีวันนี้ สำหรับนักโทษหนีคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่ชื่อ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพาษาเมื่อวันที่ 22พฤษภาคมวานนี้ กลับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ให้“ยิ่งลักษณ์”ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 10,028,861,880.83 ล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ 50 ของความเสียหายจาก การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) มูลค่า 20,057,723,761.66 บาท หรือ 2 หมื่นล้านบาท
โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแล โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า “ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะประธาน กขช.เข้าร่วมประชุม กขช.แค่เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช.ซึ่งมีหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย”
นอกจากนั้น ศาลปกครองสูงสุดยังชี้ว่า “ซึ่งโดยวิสัยของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า ควรที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยตรวจสอบ ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ หรือติดตามดูแลการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใส่ใจ”
และอีก 2 ย่อหน้าถัดจากนี้ ที่เป็นคำพิพากษาตัดสินของศาลปกครองสูงสุด
“แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กลับเพิกเฉย หรือละเลย จนเกิดการทุจริตขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานาน จนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย อีกทั้ง ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของหน่วยงาน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด”
“พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เกิดจากการแอบอ้างทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย จำนวน 4 ฉบับ มีความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท”
ทั้งนี้คำพิพากษาตัดสินของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ เกี่ยวพันกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพิพากษาตัดสินลับหลังสั่งจำคุก“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งออกหมายจับเพื่อนำตัวมารับโทษ และจนถึงวันนี้หมายจับก็ยังคงมีอยู่
ย้อนกลับไปดูคดี“หมายเลขดำอม.22/2558” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินสั่งจำคุก“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 5ปี อันเป็น“สารตั้งต้น” จนนำมาสู่คดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาตัดสินให้“ยิ่งลักษณ์”ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในครั้งนี้ โดยเริ่มจากอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง“ยิ่งลักษณ์”เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์2558 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต
อัยการสูงสุดบรรยายฟ้องว่า จำเลยคือ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2552 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 และ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ในฐานะจำเลยได้แถลงปิดคดีด้วยวาจา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 รวมเวลาพิจารณาคดี 1 ปี 6 เดือน ซึ่งศาลได้นัดตัดสินคดีในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 แต่ปราฏว่าพอถึงวันนัด “ยิ่งลักษณ์”เผ่นหนีออกนอกนอกประเทศไปแล้ว ทางช่องทางธรรมชาติด้านชายแดน“ไทย-กัมพูชา” ทำให้ศาลฎีกาฯต้องอ่านคำพิพากษาลับหลัง
คำพิพากษาลับหลังของศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ระบุว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล และประธาน กขช.มีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงเตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่
ความเสียหายที่เกิดจากการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้เป็นอาของ“แพทองโพย”ดังกล่าว รัฐต้องตามชดใช้หนี้คืนให้แก่ ธกส.ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จนถึงวันนี้ก็ยังชดใช้ไม่หมด โดยยังค้างชำระอยู่อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้าที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลทยอยชำระคืนไปแล้ว7.8 แสนล้านบาท
ส่วน“บุญทรงเตริยาภิรมย์”นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 48 ปี พร้อมกับนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์(โทษจำคุก 36 ปี) และจำเลยคนอื่นๆที่เป็นข้าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนพ่อค้าข้าว รวมทั้งหมด 27 คนที่ตกเป็นจำเลยและถูกศาลตัดสินสั่งจำคุกในคดีนี้ และเวลานี้นักโทษทุกคนได้รับการพักโทษหมดแล้ว อันเป็นผลจากการ“เลื่อนชั้น-ลดโทษ”แบบ“ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์” โดยฝีมือของ“สมศักดิ์เทพสุทิน”เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขั้นตอนต่อไป ก็คือ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ทางกรมบังคับคดีจะต้องอายัดทรัพย์สินที่ยังไม่พ้นกรรมสิทธิ์โดยชอบของ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รวมถึงอาจจะต้องขยายผลไปยังทรัพย์สินในต่างประเทศ หากพบพยานหลักฐานเกี่ยวข้อง ซึ่งดูจากบัญชีทรัพย์สินของ“ยิ่งลักษณ์” ที่เคยแจ้งต่อป.ป.ช.ครั้งหลังสุด เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบหนึ่งปี ในวันที่ 6พฤษภาคม 2558 มีทรัพย์สินเพียงแค่ 612 ล้านบาทเท่านั้น
จะอะไรก็ตามแต่ เรื่องของ“เวรกรรม”นั้น ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ จากนี้ไปคนใน“ตระกูล ชินวัตร”ก็จะถูกตามไล่ล่าอย่างถี่กระชั้น ซึ่งวันที่ 13 มิถุนายนเดือนหน้า ก็จะถึงคิว“ทักษิณ ชินวัตร”เกี่ยวกับคดี“ป่วยทิพย์-ชั้น14” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนครั้งแรก
มีแนวโน้มว่า“คุก คุก คุก” คือ “คุก”สถานเดียว !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี