ll โลกข้างหน้าจะเห็นการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรมากขึ้น และออกมาตรการกีดกันต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้ประเทศที่มองว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเอาเปรียบและแข่งขันทัดเทียมได้ โดยเฉพาะการเร่งสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ และการสร้างเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อให้ระเบียบระหว่างประเทศเป็นไปในแบบที่ต้องการ
SCB EIC แบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สหรัฐฯ และประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน เช่น เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 2.จีนและประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน เช่น ฮ่องกง รัสเซียอิหร่าน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และ 3.ประเทศที่มีบทบาทเป็นกลางในจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น อินเดีย อาเซียน-5 (สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล แอฟริกาใต้ โมร็อกโก
ข้อมูลจากฐานข้อมูล Global Trade Analysis Project (GTAP) ผลการศึกษาพบว่า1.การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง โดยผลการศึกษาพบว่าการตั้งกำแพงภาษีระหว่างขั้วสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของโลกลดลง 10.5% สำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวลงประมาณ 0.6% 2.ประเทศที่เป็นกลาง(รวมไทย) จะได้อานิสงส์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า เมื่อประเทศที่แบ่งขั้วทางเศรษฐกิจตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศ ที่ไม่ได้มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้งกันมากขึ้น ผลศึกษาชี้ว่า ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปขายตลาดประเทศที่แบ่งขั้วรวมกันได้มากขึ้นถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 22% นอกจากประเทศที่เป็นกลางจะได้ประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะได้รับเงินลงทุนจากประเทศแบ่งขั้วที่ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อขายสินค้าภายในประเทศนั้นๆ หรือส่งออกตลาดต่างประเทศ ผลการจำลองสถานการณ์พบว่า ไทยจะมีเม็ดเงินลงทุนรวม (มูลค่าที่แท้จริง) เพิ่มขึ้นถึง 27.3% ขณะที่การลงทุนจากเงินออมภายในประเทศจะเติบโตขึ้น 4.3%
สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ผลการศึกษาจากสถานการณ์จำลองชี้ว่าจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน แบ่งได้ 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2018 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้อุปสงค์สินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้า เช่น เครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้วและโลกยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น
2.กลุ่มที่มีโอกาสเสียประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไทยที่ผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของจีนหรือพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดจีนเยอะ เช่น ปิโตรเคมีและพลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรพิมพ์ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงภายในภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ทดแทนจีนจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สิ่งทอ รวมไปถึงอาจมีผู้ผลิตจากขั้วประเทศสีแดงย้ายฐานการผลิตออกมาผลิตแข่งกับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดการกีดกันการส่งออกสินค้าจากประเทศของตน
ภาครัฐและภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยต้องวางกลยุทธ์ให้แตกต่างกันระหว่างกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้หรือเสียประโยชน์ในการผลิต/การส่งออกจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตของโลก ซึ่งอาจเผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัยและการแข่งขันสูงเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากประเทศคู่แข่งทางการค้าในภูมิภาค ดังนั้น การวางกลยุทธ์ต้องต่างกันไปตามประสิทธิภาพการผลิตและระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นๆ
กลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกของไทยและการปรับตัวภาคธุรกิจเชิงรุก ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง... บทบาทภาครัฐ คือ 1.เน้นให้เงินสนับสนุนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ เช่น อุดหนุนต้นทุนการผลิต หรืออุดหนุนการลงทุนด้านการตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และ 2.ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกหาพันธมิตรบนห่วงโซ่การผลิตอย่างมีกลยุทธ์ เช่น การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ หรือการควบรวม Supplier ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Vertical integration) การปรับตัวของภาคธุรกิจ คือ 1.คัดกรองสินค้าและตลาดเป้าหมายที่สอดคล้องกับจุดแข็งของธุรกิจ และวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มี 2.วางกลยุทธ์ในการรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดเดิมๆ 3.พัฒนา High-value product และพัฒนาสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกมากขึ้น 4.ปรับปรุงกระบวนการผลิต เน้นการวิจัยและพัฒนา
2.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และไม่ต้องแข่งขันสูง ....บทบาทภาครัฐ คือ 1.สนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจและกระจายความเสี่ยง 2.สร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม...การปรับตัวของภาคธุรกิจ คือ 1.ลดความเสี่ยง โดยลงทุนเพื่อคว้าโอกาส/ลดผลกระทบด้านต่างๆ เช่น Climate change 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ
3.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่ไม่ต้องแข่งขันสูง.... บทบาทภาครัฐ คือ 1.ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี / ให้เงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต 2.สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ส่งออก มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน… การปรับตัวของภาคธุรกิจ คือ 1.เพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตและองค์ความรู้ 2.เพิ่มความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีน โดยผลักดันการเป็นฐานการผลิต เช่น ใช้เทคโนโลยีของจีนในการผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ
4.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง…บทบาทภาครัฐ คือ 1.ชี้เป้าหมายสาขาการผลิตที่มีศักยภาพดีกว่า และช่วยให้ผู้ส่งออกมีความได้เปรียบในการปรับตัวไปสู่ภาคการผลิตดังกล่าว 2.ให้เงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ผู้ส่งออกย้ายภาคการผลิต 3.ปรับปรุงโครงสร้างเชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจที่ล้มเหลวกลับเข้าดำเนินการได้ในภาคการผลิตที่มีศักยภาพมากกว่า...การปรับตัวของภาคธุรกิจคือ 1.ลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าในสินค้าอื่นๆ เช่นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร 2.หาพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่
โลกที่แบ่งขั้วไปแล้วคงยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ไทยสามารถคว้าโอกาสจากความขัดแย้งนี้ และเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับประเทศได้ โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ผ่านการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม พอดีตัว กับประเภทธุรกิจที่มีปัญหาแตกต่างกัน และผลักดันเชิงรุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการส่งออก รวมถึงภาคธุรกิจเองที่ต้องตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยต้อง
เร่งทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกสู่ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกันเราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”
SCB EIC
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี