สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ดังพระบัญชา ฉบับที่ ๑ และ ๒ที่เป็นเหตุปาราชิกของ “ธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย”ที่ขออัญเชิญมา ดังนี้
ฉบับที่ ๑
“การบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่องเป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกกลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรมมีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก ส่วนที่ไม่ใช่เป็นการลงโทษแต่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง คือ ต้องมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ให้แก่วัดทันที”
(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
๑๕ เมษายน ๒๕๔๒
...............
ฉบับที่ ๒
“ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ว่าในชั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาทรัพย์สมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ไม่ยอมคืนทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก )
๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
...............
เมื่อปาราชิกตามพระธรรมวินัยดังที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตในฉบับที่ ๑ และ ๒ ที่มีความสืบเนื่องสัมพันธ์กันตามที่อัญเชิญมาในตอนต้นแล้ว ก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องดำเนินการ “สึก” ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะต้องดำเนินการตามหมวด ๔ ว่าด้วย “นิคหกรรมและการสละสมณเพศ”
ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ “พระภิกษุรูปใดถูกจับต้องหาว่ากระทำผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว....หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ....ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้”
จะเห็นได้ชัดเจนว่าการให้สละสมณเพศนั้นต้องกระทำแก่ “พระภิกษุที่ต้องหาว่ากระทำผิดอาญา” เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อปาราชิกแล้วจึงไม่อยู่ในข่ายตามมาตรานี้ที่จะต้องดำเนินการสึก
เมื่อมิได้เป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยดังลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชแล้วกล่าวคือ “ต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากความเป็นสมณโดยอัตโนมัติต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง”
ตกเป็น “นาย” แล้ว จึงไม่ต้องให้สละสมณเพศแต่ประการใด แต่ต้องดำเนินการนำผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากตัว โดยทันทีที่จับตัวมาได้ และต้องดำเนินคดีตามมาตรา ๒๐๘ ความผิดเกี่ยวกับศาสนาที่เป็นอาญาแผ่นดิน ดังนี้
“ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ...โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การดำเนินการให้สละสมณเพศให้สึกกรณี“ธัมมชโย” ที่เป็น “นาย”ไปแล้วเท่ากับไปยอบรับความเป็นภิกษุ อันเป็นการผิดพระธรรมวินัยที่เป็นอกาลิโกและมีศักดิ์ที่สูงกว่ากฎหมายของบ้านเมืองแม้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่สูงสุดก็ไม่อาจบัญญัติขัดแย้งต่อพระธรรมวินัยได้ และยังไม่เป็นการเคารพพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงสถิตอยู่ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกอีกด้วย
เป็น “อนันตริยกรรม” นะครับ
ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี