บทความวันนี้ ขออนุญาตชูประเด็นการปฏิรูปการเมืองเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปทั้งหลาย อาจมีข้อขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยเช่นนั้นเพราะการปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง และมีพลังทางสังคมที่เห็นด้วยและคัดค้าน และมีปัจจัยเสี่ยงนานัปการ
รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะเห็นด้วย เพราะได้ประสบกับปัญหาการรักษาความสงบเรียบร้อย และการดำรงอยู่อย่างไร้เสถียรภาพของรัฐบาลในช่วงวิกฤติ พ.ศ. 2556-2557 มาแล้ว แต่ยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่ง่ายต่อการปฏิบัติ และจะเห็นผลได้รวดเร็ว คือการปฏิรูปทางโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การสร้างระบบการขนส่งระบบราง การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้ทันสมัยและโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งทะเลตะวันออก ตลอดจนปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเกษตรดังกล่าว หากประสบผลสำเร็จก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การขยายขนาดของชนชั้นนักธุรกิจ ตลอดจนกลุ่มนักกฎหมาย วิศวกร และนายแพทย์ พยาบาล ทั้งหลาย และย่อมเพิ่มน้ำหนักให้แก่ชนชั้นกลาง และ “ปัญญาชน” ที่ “น่า” จะเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองอันฉ้อฉล
อย่างไรก็ตาม หากจะเร่งเครื่องหรือหาตัวช่วย ให้ระบบการเมืองการปกครองของเราได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง และมีระบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพ ระบบพรรคที่มีวัฒนธรรมร่วมตามวิถีทางของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ความสมดุลและความพอดีของการใช้อำนาจ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนา (หรือปฏิรูป) “ทั้งโครงสร้างของอำนาจ” และ “วัฒนธรรมการเมือง”
ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เป็นบุคคลสำคัญในสังคมไทย และได้นำเสนอแนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างของอำนาจมาเป็นเวลานับเป็นสิบๆ ปี ท่านเสนอให้ปรับโครงสร้างแนวดิ่ง
สู่โครงสร้างแนวราบ และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 ได้เสนอบทความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในคอลัมน์ สกู๊ป (หน้า 1) ตอกย้ำแนวคิดของท่านอีกครั้ง โดยสรุปที่ท่านอยากเห็น “รัฐบาลออก พ.ร.บ.ปฏิรูปโครงสร้าง ถอดสลักกฎหมายหลายร้อยฉบับที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง กระจายอำนาจไปให้ชุมชน ท้องถิ่น องค์กรในพื้นที่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มีอิสระในการจัดการกันเอง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และปรับบทบาทของระบบราชการส่วนกลางจากการบริหารอำนาจ เป็นบริหารนโยบาย...ยุทธศาสตร์”
“รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน การรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำอย่างอิสระ เพื่อกิจการสาธารณะในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกประเด็น เกิดพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ เต็มประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี
ศีลธรรมดี”
หลักการที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นำเสนอนี้ ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการและข้าราชการรุ่นหลังท่าน มีความเห็นสนับสนุนท่านมาโดยตลอด แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ลำพังแต่การกระจายอำนาจไปให้องค์กรระดับล่าง ดังที่ระบบราชการของเราได้ปฏิบัติ ตลอดจน พ.ร.บ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยเหตุผลเรื่อง “คน” นั่นแหละ
และทำไม “คนไทย” จึงแตกต่างจาก “คนอังกฤษ” ในพฤติกรรมทางการเมืองและการทำงานโดยทั่วๆ ไป ทำไม “คนไทย” จึงไม่มีวินัยเหมือนคนญี่ปุ่นในการทำงาน ทำไมครอบครัวคนไทย “จึงแตกต่างจากครอบครัวคนจีน” ในขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรธิดา
เพราะสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน? เพราะลัทธิศาสนา/ขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน? หรือเพราะระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันจากอดีต?
สังคมอังกฤษนั้น ในยุคสมัยกลาง (ยุคสังคมศักดินา) การรวมตัวกันเป็นชุมชน (ชนบท) ส่วนหนึ่งรวมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองมากเท่าๆ หรือมากกว่าเหตุผลทางสังคม หรือเชื้อชาติ อังกฤษมีระบบการปกครองตนเองระดับหนึ่ง และมีระบบรัฐสภาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 13/ขุนนางอังกฤษจึงมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์ แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับขุนนาง และมีประสบการณ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภาหลายศตวรรษ ผ่านสงครามกลางเมืองและการปฏิวัติที่ถอดถอนกษัตริย์องค์เดิม เพื่อแต่งตั้งองค์ใหม่ที่สนับสนุนระบบรัฐสภา
สังคมไทยไม่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้น ประวัติศาสตร์ไทยเป็นคนละม้วนกับประวัติศาสตร์ของชาวยุโรป ฉะนั้นการที่จะนำเข้าระบอบรัฐสภา และประชาธิปไตยจึงสมควรต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่สอดคล้องกับระบบนี้ และศาสตร์การสอนสมัยปัจจุบันมีเทคนิค วิธีการ กระบวนการ ที่จะอบรมบุคลิกนิสัย และความศรัทธาในระบบดังกล่าว ซึ่งหากเป็นกระบวนการสอนเด็ก ก็จะใช้กระบวนการอย่างหนึ่ง และหากเป็นผู้ใหญ่ ก็จะใช้กระบวนการ “การศึกษาผู้ใหญ่” หรือ “Andragogy” เปาโล แฟร์ (Paulo Frere) ใช้เทคนิคที่เรียกว่า กระบวนการปลุกจิตสำนึก(Conscientization) ส่วนสังคมไทยสมัย ดร.โกวิทย์ วรพิพัฒน์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็จะเรียกว่า “กระบวนการคิดเป็น”
ฉะนั้น หากจะกระจายอำนาจการบริหารจัดการในระดับหนึ่งให้แก่หมู่บ้าน ก็สมควรจะต้องฝึกปฏิบัติกระบวนการรวมกลุ่ม กระบวนการปรึกษาหารือ และสร้างผู้นำกลุ่ม การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับผิดชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจอิทธิพล การจัดการศึกษาฟรีจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 ก็ด้วยเหตุผลจะยกระดับความรู้/ความคิดของชาวชนบท ให้รู้จักช่วยตนเองและสนใจในกิจการของชุมชนและหมู่บ้านของตนเอง ถอยห่างจากการเป็น “passive voters” ผู้ลงคะแนนเสียงประเภทขาดความคิดและวิจารณญาณ ไปสู่ความเป็น “active voters” ผู้ลงคะแนนเสียงด้วยความรู้ความเข้าใจประเด็นของการเมือง
ขณะเดียวกัน การเตรียมคนรุ่นใหม่จากเยาวชนซึ่งกำลังเติบโต ก็อยู่ในความรับผิดชอบเกือบจะเต็มร้อยของบรรดาคุณครูทั้งหลาย และผู้ออกแบบหลักสูตรการศึกษา ซึ่งควรสอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมของการทำงานกลุ่ม การเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้ตามที่มีวินัย การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน การรับผิดชอบในภารกิจหน้าที่ ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติที่เป็นมิตรต่อระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ไม่เป็น “มาเฟีย” ตั้งแต่เยาว์วัย การสอดแทรกคติธรรมของชีวิตไว้ในหนังสือนิทาน หนังสือประกอบการเรียนการสอน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ออกแบบหนังสือเรียนต้องกระทำ
สำหรับวัยรุ่น (อายุ 15-18 ปี) การสอนชีวประวัติของนักการเมืองในอดีตและปัจจุบันที่จะเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย เป็นภารกิจที่ควรกระทำ วัยรุ่นอเมริกันสมัยก่อนต้องอ่านชีวประวัติของ ยอร์จ วอชิงตัน และอับราฮัมลินคอล์น และเรียนรู้เรื่องราวของการเมืองสหรัฐ และซึมซับบทเรียนประชาธิปไตย สำหรับในสังคมไทยก็น่าจะสร้างบทเรียนจากตัวอย่างของนักประชาธิปไตยและผู้นำในอดีตที่เป็นตัวอย่างที่ดี ฝึกให้นักเรียนได้สัมผัสกับคำปราศรัยทางการเมืองของอดีตผู้นำเหล่านี้
ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เปิดทางให้มีระบบ “Primary election” หรือการเลือกผู้สมัครในนามของพรรคการเมืองหลายท่านก็หวั่นวิตกว่าจะมีการใช้อิทธิพล/การซื้อเสียงตั้งแต่ในระดับนี้ ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นไปได้ที่ระบบคัดเลือกผู้สมัครในนามพรรค โดยประชาชนมีส่วนร่วม อาจจะส่งเสริมพลังประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือสื่อมวลชนจะต้องเข้ามามีบทบาทกระตุ้นความสนใจของประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมจำนวนมาก
การเรียนจากภาคปฏิบัติ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ขณะที่การเรียนรู้ทางการเมืองในสถานศึกษา ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ
ดร.วิชัย ตันศิริ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี