ต่อภัสสร์: บทความในตอนที่แล้วผมถามพ่อเรื่องค่าโง่โฮปเวลล์ เลยได้รู้ว่าเพราะคนโกงเพียงไม่กี่คนสามารถทำให้ชาติเสียหายงบประมาณไปหลายหมื่นล้านได้ และได้รู้ว่าที่คนโกงเหล่านี้สามารถโกงได้ก็เพราะขาดความโปร่งใสนั่นเอง ในบทความตอนนี้เลยอยากมาถามพ่อต่อเนื่อง ว่าแล้วจะทำอย่างไรถึงจะสร้างความโปร่งใสเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดค่าโง่แบบโฮปเวลล์ได้อีก
ต่อตระกูล: ถูกต้องเลย ความโปร่งใสเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะช่วยป้องกันคนโกงไม่ให้โกงเงินชาติได้ง่ายๆ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะแค่เพียงรัฐบาลเอาข้อมูลโครงการภาครัฐทั้งหมดมาเปิดให้ประชาชนดูได้อย่างโปร่งใส ก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะโดยปกติ โครงการภาครัฐแต่ละโครงการโดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง เพียงแค่เอกสารรายละเอียดงานก่อสร้างก็หนาหลายพันหน้าแล้ว แถมข้อความส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาเทคนิคอีก ถ้าไม่ได้เรียนมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์มาก็คงอ่านรู้เรื่องยากมาก
ดังนั้น ความโปร่งใสจะต้องได้รับการสนับสนุนโดยความมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ อีกด้วย นี่จึงเป็นที่มาของโครงการข้อตกลงคุณธรรม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า IP ซึ่งย่อมาจากคำว่า Integrity Pact เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)
ต่อภัสสร์: แล้วโครงการนี้สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ อย่างไรครับ
ต่อตระกูล: หลักการง่ายๆ ของโครงการนี้ก็คือ การทำสัญญาคุณธรรมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโครงการนั้นๆ ว่าจะเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดให้ผู้สังเกตการณ์อิสระ ซึ่งคัดเลือกมาจากประชาชนทั่วไปที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับโครงการนั้นๆ แล้วเปิดให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเหล่านี้เข้าไปร่วมฟังการประชุมต่างๆ ตั้งแต่ขั้นการเขียนรายละเอียดสัญญาโครงการ (TOR) จนถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเลย ถ้ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ผู้สังเกตการณ์อิสระก็จะสามารถส่งบันทึกทางการไปถึงหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ เพื่อเตือนให้เฝ้าระวังการทำงานในโครงการนี้ประเด็นใดเป็นพิเศษ ถ้าหัวหน้าหน่วยงานนั้นยังไม่ทำอะไรอีก ก็สามารถรายงานการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรมที่ลงนามกันไว้ทุกฝ่าย ไปถึงคณะกรรมการระดับชาติของกระทรวงการคลัง ที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งประเทศได้
ต่อภัสสร์: แล้วโครงการนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรอครับ
ต่อตระกูล: ได้จริงสิ โครงการนี้ เริ่มดำเนินงานมาแล้ว 3 ปี สามารถช่วยรักษางบประมาณชาติไว้ได้เฉลี่ยโครงการละ 30% หรือคิดรวมกันเป็นแสนล้านบาทแล้ว และต่อไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ทุกโครงการที่มีขนาดเกิน 1 พันล้านบาท จะต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรมด้วย แบบนี้ก็อาจจะช่วยประหยัดงบประมาณให้ชาติได้เป็นล้านล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
ต่อภัสสร์: ในภาพรวมฟังดูดีมาก อยากรู้รายละเอียดในการปฏิบัติจริงว่าแต่ละโครงการมีผลความสำเร็จยังไงบ้างครับ
ต่อตระกูล: เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีการประกาศผลการประมูลโครงการ e-passport ระยะที่ 3 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีโครงการจะจ้างเอกชนผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม มูลค่าราคากลาง 12,438 ล้านบาท หรือเล่มละ 829.25 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ผลการประกวดราคา มีผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด 7,463 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางถึง 4,975 ล้านบาท ประหยัดเงินงบประมาณของประเทศ ไปได้ถึงเกือบ 2,500 ล้านบาท เหตุผลหนึ่งมาจากการที่โครงการนี้มีผู้เข้าประมูลแข่งขันกันมากถึง 4 ราย และผู้แข่งขันแต่ละรายเป็นผู้ชำนาญการผลิตพาสปอร์ตรายใหญ่จากทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการที่มีคณะผู้สังเกตการณ์เข้าไปร่วมนั่งประชุมกับคณะกรรมการร่าง TOR มีผลทำให้การประมูลเปิดกว้างขึ้นได้จริง
ต่อภัสสร์: เมื่อมีความโปร่งใสและมีการร่วมสังเกตการณ์ในการร่างข้อกำหนดต่างๆ บริษัทเอกชนที่เก่งๆ เขาก็จะกล้าเสนอตัวเข้ามาทำงานให้รัฐใช่ไหมครับ
ต่อตระกูล: ใช่เลย เพราะปกติคนเก่งๆ ดีๆ จะไม่กล้าเข้าไปประมูล โดยเฉพาะโครงการของหน่วยงานที่มีงบก่อสร้างมากๆ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีเจ้าประจำอยู่ บริษัทอื่นๆ แทบจะไม่มีโอกาสชนะการประมูล ไม่ว่าจะทำงานได้คุณภาพดีแค่ไหน
ต่อภัสสร์: แล้วถ้ามีบริษัทต่างๆ มาแข่งฟันราคากันมากๆ แบบนี้ คุณภาพงานจะดีหรือครับ
ต่อตระกูล: จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีการจัดการประมูลถูกต้องตามหลักวิชาการการบริหารการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ก็สามารถดำเนินการไปด้วยดี ไม่มีปัญหาทิ้งงาน หรืองานออกมามีคุณภาพต่ำแต่อย่างใด
ขอยกตัวอย่างโครงการสะพานข้ามแยกนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน อีสเทิรน์ ซีบอร์ด อมตะซิตี้ และแยกปากร่วม ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นโครงการของกรมทางหลวง ที่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปติดตามดูแลในขั้นการดำเนินการก่อสร้าง และร่วมประชุมตรวจรับงานทุกงวดด้วย
งานนี้พ่อได้เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์เองด้วยคนหนึ่ง จึงจะเล่าได้เต็มที่ว่าช่วงแรกๆ ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน เพราะผู้ชนะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง
200 กว่าล้านบาท จากงบราคากลางที่ตั้งไว้ 3,900 ล้านบาท
หลังจากที่ไปประชุมและตรวจงานมาหลายครั้งแล้ว ปรากฏว่าผู้รับเหมาสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากใช้วิชาการก่อสร้างที่ทันสมัยและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากโรงงานผลิตชิ้นส่วนคานสะพานแบบกล่องขนาดยักษ์ ที่เขาสร้างโรงงานไว้ริมถนนข้างเขตก่อสร้างเลย ทำให้ต้นทุนจากค่าขนส่งลดลงได้มาก
ต่อภัสสร์: ดีใจที่มีเรื่องดีๆ ในการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินในโครงการของรัฐ แบบนี้เราก็มีหวังว่าอนาคตจะไม่มีค่าโง่แบบโครงการโฮปเวลล์อีกแล้ว เพราะจะมีระบบข้อตกลงคุณธรรม ที่เปิดข้อมูลและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ มาร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี