“สารส้ม” เคยเขียนบทความเรื่อง “ควรส่งเสริมสุราแช่พื้นบ้าน” เพราะเห็นในศักยภาพและภูมิปัญญาในการทำ “สุราแช่” ของคนไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก
แม้ปัจจุบันทางการจะผ่อนคลายเงื่อนไขไปมาก แต่ก็ยังมีรายละเอียดจุกจิก เกินความจำเป็น ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส จึงได้เคยระบุว่า “...หากรัฐต้องการจะส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็ควรอำนวยความสะดวกมากกว่านี้ หรือมีมาตรการส่งเสริม ยกเว้นภาษี คล้ายๆ กับการส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจใหญ่ๆ น่าจะเกิดประโยชน์ และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนรากหญ้า”
1. สส.พรรคอนาคตใหม่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร(ซึ่งเป็นคนทำคราฟท์เบียร์ผิดกฎหมาย แล้วถูกจับกุมมาก่อนที่จะได้เป็น สส.) ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจี้ให้รัฐบาลหาทางปลดล็อกคราฟท์เบียร์
ประเด็นสำคัญที่นายเท่าพิภพจี้ลงไป คือ กฎหมายในปัจจุบัน
เป็นอุปสรรคต่อประชาชนธรรมดา รายใหม่ รายย่อย ในการผลิตเบียร์
ที่น่าสนใจ คือ กฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ ที่ผลิต (จำพวกโรงเบียร์สด) ต้องมีการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตร/ปี
ถ้าผลิตเบียร์บรรจุขวด เพื่อจำหน่ายทั่วไป ขั้นต่ำต้องมีการผลิตถึง 10 ล้านลิตร/ปี เฉลี่ยวันละ 3 หมื่นลิตร
นอกจากนี้ จะต้องไปจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เพื่อขออนุญาตผลิต
ดูๆ แล้ว จะต้องเป็นผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น
รายเล็กๆ อย่างผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ ดูจะถูกปิดกั้นด้วยกำแพงเงื่อนไขเหล่านี้
กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอของ สส.เท่าพิภพ คือ ปลดล็อกคราฟท์เบียร์
เท่าที่ติดตามการตั้งกระทู้ในวันนั้น ประกอบกับการตอบคำถามของรัฐมนตรี น้ำหนักของเหตุผล เมื่อเทียบกันดูแล้วข้อเสนอของนายเท่าพิภพมีน้ำหนักน่ารับฟังกว่าฝ่ายรัฐบาล
2. ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนไปมาก
ในธุรกิจเบียร์ มีรายเล็กรายย่อยสร้างสรรค์การผลิตคราฟท์เบียร์ ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่มาก ตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
ตลาดคราฟท์เบียร์ เรียกได้ว่า เป็นคนละตลาดกับเบียร์หลักๆ
แต่จะยี่ห้อจะมีสูตร มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีมากมายหลากหลาย
คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยก็มีความตื่นตัว คิดค้น มีความสามารถ แสวงหาสูตรเบียร์ใหม่ๆ
ลองนึกภาพสูตรสุราพื้นบ้านที่มีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย เพียงแต่คราฟท์เบียร์เป็นของใหม่ และเป็นของที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่
คุณกาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ผู้ผลิตเบียร์สเปซคราฟท์ เคยเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าคราฟท์เบียร์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีมูลค่านำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของมูลค่าตลาดเบียร์ไทยซึ่งมีมูลค่า 180,000 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยต้องนำเข้าคราฟท์เบียร์เป็นเพราะเราไม่มีการผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยด้วยกฎกติกาของรัฐนั่นเอง
3. เมื่อมีข้อกำหนดเงื่อนไขข้างต้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยเกิดไม่ได้
สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ คือ
3.1 เลี่ยงไปผลิตอยู่นอกประเทศ ที่เขาสนับสนุนส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย แล้วส่งออกกลับมาประเทศไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา
3.2 ต้องผลิตใต้ชายคาของทุนใหญ่ในประเทศ
4. ผลลัพธ์ข้างต้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในปัจจุบัน จึงเป็นเครื่องตอกย้ำว่า เงื่อนไขที่มีอยู่ทำให้ประเทศและประชาชนในประเทศเสียโอกาสจริงๆ
ในขณะที่ ข้ออ้างว่า ต้องควบคุมปริมาณการผลิตขั้นต่ำ เพื่อควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยนั้น นับวันยิ่งมีน้ำหนักน้อยลงไปทุกที
โลกการผลิตปัจจุบัน มิใช่ว่าผลิตเยอะๆ แล้วจะมีความปลอดภัย มีมาตรฐานสูงกว่ารายเล็กรายน้อยเสมอไป
ประเด็นความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ แต่วิธีการทำ ก็มีกลไกกำกับควบคุมอื่น ที่มิใช่จำกัดด้วยขนาดการผลิตขั้นต่ำเช่นนี้
5. หากรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีแผนปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจรายย่อย จะนำร่องเปิดทางและเข้าไปหนุนส่ง แทนที่จะสร้างเงื่อนไขจำกัด เชื่อว่าจะเป็นบรรยากาศที่ดี และภาพบวกต่อรัฐบาลอย่างมาก
ที่สำคัญ จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของธุรกิจรายย่อย
โดยดำเนินการไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมสุราแช่พื้นบ้านด้วย
เชื่อแน่ว่า จะได้รับกระแสตอบรับอันดีจากประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ และคนรุ่นใหม่
ปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดการผลิตขั้นต่ำหรือขั้นสูงเสีย เพราะถือว่าผู้ผลิตจะเป็นผู้ตัดสินใจได้ดีที่สุดถึงขนาดการผลิตที่เหมาะสม
หากจะกำกับควบคุมความปลอดภัย ก็ออกมาตรการที่เป็นกลไกการกำกับดูแล ตรวจสอบด้านความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี