วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวันเริ่มการรณรงค์หาเสียงในตำแหน่งประธานาธิบดีและตำแหน่งรองประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ โดยจะมีการลงคะแนนเสียงในระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565
ระบบการเลือกตั้งผู้นำประเทศของฟิลิปปินส์แตกต่างจากระบบส่วนใหญ่ของประเทศต่างๆ คือ มีการแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ระหว่างตำแหน่งประธานาธิบดี กับตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยในครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจำนวน 8 คน และผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจำนวน 6 คน บางครั้งผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี อาจจะจับมือกันร่วมกันหาเสียง แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะแยกกันหาเสียง ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อผลออกมาก็จะมีประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีที่มาจากต่างพรรค ต่างพวก และต่างอุดมการณ์ จะต้องมาปรับตัวเข้าหากัน และก็แน่นอนก็ต้องมีการให้เกียรติแก่ตัวประธานาธิบดีที่จะมอบหมายภารกิจให้กับรองประธานาธิบดีนั้นๆ ซึ่งแม้จะดูสับสน แต่มองในอีกแง่หนึ่งก็เปิดโอกาสให้ประชาชนพลเมืองมีสิทธิและมีบทบาทในวิถีทางทางการเมืองหลากหลายมากขึ้น
ฉะนั้นการรณรงค์หาเสียงจากบัดนี้ไปจึงจะเต็มไปด้วยความเข้มข้น คึกคักตามสไตล์ชาวฟิลิปปินส์ที่มีความคิดเห็น ชอบแสดงออก และคล่องแคล่วในการใช้ภาษา
ผู้สมัครทุกคนต่างก็จะรณรงค์หาเสียง หาความนิยมชมชอบในเรื่องอุดมการณ์และหลักการเป็นธรรมดา เช่นในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเสมอภาคทางเพศ การปรับปรุงการบริการของภาครัฐ เช่นเรื่องการศึกษาและการสาธารณสุข และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในชาติพันธุ์ การนับถือศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองจะให้สัญญากับประชาชนพลเมือง ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนพลเมืองจะมีความเชื่อถือไว้วางใจบรรดาผู้สมัครต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และก็ไปเสี่ยงกันเอาดาบหน้า
แต่โดยทั่วไปแล้วผู้สมัครทั้งหมดต่างมีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ และมีฐานะทางสังคม คือมักจะมาจากครอบครัวที่มีธุรกิจและเกี่ยวข้องกับการเมืองกันมาหลายชั่วคน จัดได้ว่าเป็นธุรกิจการเมืองเป็นสำคัญ ส่วนอุดมการณ์โดยทั่วๆ ไปก็จัดได้ว่าอยู่ที่ปีกขวากลาง (Right of Center) คือ เอาด้วยกับระบบทุนนิยมหรือเศรษฐกิจการตลาดแบบทุนใหญ่ หรือกึ่งผูกขาด และค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมในเรื่องสิทธิทางเพศ และเข้มข้นกับการใช้อำนาจรัฐและกฎหมายของบ้านเมือง แต่ก็มีผู้สมัครจำนวนน้อยๆ ที่มีความคิดอ่านหนักไปในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาคในสังคม ไปจนถึงการปรองดองสมานฉันท์ระหว่างชาวคริสต์ กับชาวมุสลิม
การรณรงค์หาเสียงของฟิลิปปินส์ดูจะมีลักษณะพิเศษ หรือความเข้มข้นกว่าหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนาที่เพียรพยายามที่จะสร้างความเป็นสังคมประชาธิปไตย กล่าวคือ
1.ความสำคัญของเส้นสายของวงศาคณาญาติ เพื่อให้เป็นฐานเสียงและกลไกในการเข้าถึงซึ่งชุมชนและหมู่เหล่าของผู้คนต่างๆ
2.การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อได้รับชัยชนะแล้วก็จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการอนุมัติโครงการ หรือการจัดหาตำแหน่งให้เป็นการตอบแทน ในทำนองระบบการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือการเกาหลังซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในกรอบและบริบทความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
3.การใช้เงินหาเสียงอย่างกว้างขวาง (Money Politics) ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในแวดวงการเมืองของฟิลิปปินส์ และเมื่อทุกผู้สมัครใช้ ก็กลายเป็นเรื่องปฏิบัติที่ยอมรับกันได้ กฎเกณฑ์กติกาก็ใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องใช้เสียเลย
แต่ก็มิได้หมายความว่าการบ้านการเมืองจะเลวร้ายไปเสียหมด เพราะเส้นทางเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดี หรือตำแหน่งอื่นๆ แม้จะดูไม่ค่อยสวยงาม เต็มไปด้วยประเพณีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากลต่างๆ ก็ตาม แต่เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้บริหารประเทศ หรือผู้บริหารองค์กรหนึ่งใดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความเป็นผู้นำเป็นสำคัญ (Leadership) ทั้งนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้เห็นผู้นำที่ดีหลายคน เช่น แม็กไซไซ รามอส และอาคีโน (ทั้งผู้เป็นมารดาและลูกชาย เป็นต้น) คือเมื่อได้ตำแหน่งแล้ว ก็มีความแรงกล้าในการสร้างชื่อเสียงและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ อีกทั้งยุคสมัยนี้ในยุคของโลกเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ การเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสาร และการตื่นรู้ของผู้คนโดยทั่วไป ก็มีอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทันทีทันใด ทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น ก็เท่ากับว่าประชาชนพลเมืองมีเครื่องมือที่จะทำการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และเรียกร้องต่อผู้ใช้อำนาจรัฐได้อย่างทันทีทันควัน แล้วเป็นการป้อมปราม ป้องกัน มิให้ผู้ใช้อำนาจรัฐกระทำการเลยเถิดเลยควร และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาดังที่ได้ให้ไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียง
จะอย่างไรก็ตาม พวกเราที่เป็นเพื่อนบ้านฟิลิปปินส์และเป็นชาวอาเซียนด้วยกัน ก็น่าจะยินดีกับชาวฟิลิปปินส์ที่เขาได้มีโอกาสใช้อำนาจของการเป็นพลเมือง ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และในการคัดเลือกตัวแทนของเขาให้ไปทำหน้าที่ให้กับความผาสุกและความเจริญก้าวหน้าต่อไป และในขณะเดียวกันเราก็ต้องร่วมยินดีกับระบอบประชาธิปไตยว่ายังคึกคักและมีชีวิตอยู่ในส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงระยะหลังๆ ระบอบประชาธิปไตยเผชิญกับปัญหาความถดถอยว่าไม่สามารถที่จะตอบสนองความอยู่ดีกินดีของประชาชนพลเมืองได้ เพราะไม่รวดเร็วและเฉียบขาดไม่ทันใจ แต่ก็คงเข้าตำราว่าช้าหน่อยได้พร้าสองเล่มดีกว่าได้เร็วแต่ถูกจำจอง กดขี่ และไร้สิทธิเสรีภาพ เฉกเช่น ระบอบเผด็จการทุนนิยม หรือประชาธิปไตยภายใต้พรรคการเมืองเดียว
ก็ต้องฝากผู้นำฟิลิปปินส์ชุดใหม่ว่า เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว ก็อย่าเอาเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเป็นที่ตั้ง รีบทำงานทำการให้กับชาวฟิลิปปินส์ ช่วยเสริมสร้างประชาคมอาเซียน และทำตัวให้เป็นแบบอย่างต่อผู้นำอาเซียนอื่นๆ ที่ยังตกอยู่ในถ้ำมืดของอำนาจนิยม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี