เสาธงในมหาวิทยาลัย มีไว้เพื่อชักธงชาติไทย หากใครนำธงอื่นใด นอกเหนือจากธงชาติไทยชักขึ้นไป ก็เป็นการทำที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง ส่วนผิดกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้นักกฎหมายตีความไปตามความเห็นของตน คนที่สนับสนุนให้ชักธงดำได้ ก็บอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ส่วนคนที่ไม่สนับสนุนให้ชักธงดำ ก็บอกว่าผิดกฎหมาย
ดังนั้นจึงดูเป็นเรื่องพิสดารมากที่นักกฎหมายมองเรื่องเดียวกันไปคนละทิศละทาง มองไปตามที่ตัวเองเห็นชอบ หากนักกฎหมายไทยยังมีพฤติกรรมมองการกระทำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปคนละทิศละทาง โดยไม่ดูเจตนารมณ์ของผู้กระทำ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีกฎหมายไปเพื่ออะไร เพราะมีไปแล้ว ก็ไม่ได้ถูกใช้ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เป็นการลากถูลู่ถูกังไปตามความเห็นของผู้ทำหน้าที่ตะแบงกฎหมาย
ถามย้ำว่า การชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาธงของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องผิดหรือถูกกฎหมาย ก็ต้องตอบตรงๆ ว่า เสาธงมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อชักธงชาติไทย เพราะฉะนั้น หากมีการนำสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ธงชาติไทยชักขึ้นสู่ยอดเสาธง ก็นับว่าทำผิดเจตนารมณ์ของการสร้างเสาธงในมหาวิทยาลัย
ดังนั้น การชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาธงในมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องผิด อันดับแรกคือ ผิดประเพณีปฏิบัติ ส่วนการชักธงดำจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ก็ต้องดูที่บริบทของการกระทำในแต่ละครั้ง เพราะเคยมีเหตุการณ์ชักธงดำสู่ยอดเสาธงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516
คนเรียนกฎหมายไทยบางราย เช่น วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อ้างเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเกิดเหตุนิสิตหญิงรายหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามชักธงดำสู่ยอดเสาธงของจุฬาฯ ว่า ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับธง เฉพาะการใช้ ชัก หรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ธงอื่นของต่างประเทศ และธงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัติธง หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ส่วนธงดำมิได้ถือเป็นธงตามกฎหมายดังกล่าว
ขอให้คุณอ่านคำอ้างของวัฒนาซ้ำอีกครั้ง อ่านแล้วคุณเข้าใจว่าอย่างไร ตกลงชักธงดำได้หรือไม่ ชักแล้วผิดกฎหมายหรือไม่ ทำไมนักกฎหมายไม่พูดเรื่องของเจตนารมณ์กฎหมายให้ชัดเจน ทำไมเบี่ยงไปเบี่ยงมา การเรียนนิติศาสตร์ไม่ได้สอนให้เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมายดอกหรือ หรือสอนให้ตีความแบบเล่นลิ้น จำพวกร้อยลิ้นกะลาวน
ในฐานะที่ผู้เขียนไม่เคยเรียนในคณะนิติศาสตร์ แต่ก็ได้เรียนวิชากฎหมายบางตัว แต่ถึงกระนั้น ก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายว่า ต้องยึดหลักกฎหมาย ต้องยึดมั่นในหลักนิติปรัชญา ต้องเคร่งครัดในหลักพระธรรมศาสตร์ กฎหมายนั้นสามารถแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและบทลงโทษได้ เมื่อกาลเวลาและสถานการณ์ของสังคมเปลี่ยนไป แต่ถึงกระนั้นก็จำเป็นต้องธำรงหลักพระธรรมศาสตร์ไว้ให้มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคม เพราะกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปนั้น หาได้เปลี่ยนไปในทางบวก ทางสร้างสรรค์เสมอไปไม่
ผู้เขียนจำได้ดีว่าเคยเรียนถามอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายปกครองในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า อาจารย์ครับ พระสงฆ์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยต้องสวมสบง จีวร รวมถึงเครื่องประกอบการแต่งกายของสงฆ์ด้วยสีเหลืองแบบสีจีวรพระ ใช่ไหมครับ ถ้าในอนาคตพระสงฆ์ส่วนใหญ่จะรวมตัวกันแล้วบอกว่าจะขอเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีดำ สีเขียว สีชมพู สีฟ้า สีขาว ได้ไหมครับ
อาจารย์ผู้สอนบอกว่าต้องยึดพระวินัยสงฆ์ หากพระวินัยสงฆ์กำหนดไว้อย่างไร ก็ต้องทำตามนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นกฎของสงฆ์
ผู้เขียนถามต่อว่า แล้วถ้าหากสงฆ์จำนวนมากบอกว่าต้องการเปลี่ยนสีจีวร เพราะสงฆ์ส่วนใหญ่ต้องการแบบนี้ทำได้ไหมครับ เพราะสงฆ์อ้างว่าเป็นหลักประชาธิปไตย โดยอ้างเสียงข้างมาก
อาจารย์ยังคงยืนยันว่า ต้องเคารพและยึดมั่นในหลักพระวินัยโดยเคร่งครัด ทำนอกเหนือพระวินัยไม่ได้เป็นอันขาด หากทำนอกเหนือก็ต้องขาดจากความเป็นสงฆ์
กลับไปที่เรื่องชักธงดำสู่ยอดเสาธงของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ากระทำมิได้ ไม่ว่าจะกรณีใดๆ เนื่องจากเสาธงของมหาวิทยาลัยใช้สำหรับชักธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาธงเท่านั้น ธงอื่นใดไม่สามารถถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาธงได้เป็นอันขาด ผู้ใดกระทำผิดไปจากนั้น ถือว่ากระทำผิดทุกประการ
ดังนั้น การชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาธงมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องผิดและไม่บังควร แต่หากมีผู้บอกว่าการกระทำดังกล่าวในยุคหนึ่งได้รับการยอมรับจากประชาชน เช่น ในยุค 14 ตุลาฯ แต่แล้วทำไมจึงไม่สามารถยอมรับได้ในยุคปัจจุบัน ก็ต้องตอบว่า เหตุการณ์ช่วง 14 ตุลาฯ กับเหตุการณ์ยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น เทียบกันไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯโดยตรงคงตอบได้ดีว่าเหตุการณ์14 ตุลาฯ กับเหตุการณ์ปัจจุบันเหมือนกันหรือต่างกัน
การแสดงออกของประชาชนในเชิงสัญลักษณ์เพื่อตอบโต้กับอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่การกระทำนั้นๆ ต้องไม่ผิดหลักกฎหมาย
การที่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าผู้มีอำนาจรัฐไม่มีความชอบธรรม จึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชักธงดำ เป็นเรื่องที่ทำได้ หากไม่ชักธงดำสู่ยอดเสาของมหาวิทยาลัย แต่สามารถชักธงดำที่บ้านของตนเอง หรือบนหลังคารถของตนเอง หรือจะเอาธงดำคลุมห่มร่างของตัวเอง ก็ย่อมกระทำได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า การเอาธงดำห่มตัวเองผิดกฎระเบียบการแต่งกายขององค์กรหรือหน่วยงานใดๆ หรือไม่ เพราะหากองค์กรหรือหน่วยงานมีระเบียบการแต่งกายก็ไม่สามารถละเมิดได้อีก ยกเว้นจะเอาธงดำคลุมห่มตัวในยามที่ไม่ต้องทำงาน หรือจะคลุมห่มตัวในบ้านหรือยามเดินทางไปไหนมาไหน ก็เชิญตามสบาย หรือจะเอาธงดำอุดจมูก อุดปาก อุดหู ผูกปิดตาของตนเอง ก็เชิญตามสบาย เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ขอย้ำอีกครั้งว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ ทั้งด้านความเห็น การกระทำ และการโฆษณา แต่การกระทำใดๆ ต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมาย หากทำผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพ ก็นับว่าจงใจกระทำผิดกฎหมาย เมื่อทำผิดกฎหมายก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีใครห้ามคุณทำผิดกฎหมาย แต่เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องรับผิด อย่าอ้างว่าถูกกลั่นแกล้ง รังแก ยัดข้อหา หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม
แล้วเมื่อคุณอ้างว่าคุณมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกตามที่คุณเห็นชอบ คุณก็ต้องสำเหนียกไว้ตลอดเวลาว่าคนอื่นเขามีสิทธิเสรีภาพในการเห็นต่างจากคุณได้เสมอ เพราะเขาไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคุณ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปด่า หรือแสดงอาการหยาบคายต่ำสถุลกักขฬะใส่คนที่มีความเห็นไม่เหมือนคุณ เพราะเขามีสิทธิ์เห็นต่างจากคุณ
การที่ สส. และ สว. บางกลุ่มไม่โหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเขาไม่ได้สนับสนุนพิธามาตั้งแต่แรก เมื่อเขาไม่สนับสนุน เขาก็จึงมีสิทธิ์ไม่โหวตให้ เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา เขาไม่เคยสัญญาว่าจะโหวตให้แล้วมากลับคำในภายหลัง เพราะฉะนั้นสาวกของพิธาไม่ต้องไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายคนที่เขาไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไม่จำเป็นต้องประท้วงป่วนบ้านป่วนเมืองให้บ้านเมืองไร้ความเป็นปกติสุข
คุณรักพิธา คุณก็รักของคุณไปเถอะ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้คนอื่นรักพิธา เพราะว่าเขาไม่รักไม่ศรัทธาดังนั้นเลิกอ้างเถอะว่าพิธาต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ต้องไม่ลืมว่าคะแนนโดยรวมของคนที่ไม่เลือกก้าวไกลนั้น มากกว่าที่พรรคก้าวไกลได้หลายเท่านักนั้น อย่าหลับหูหลับตาอ้างว่าเมื่อก้าวไกลได้ที่หนึ่งแล้วพิธาต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี สถานเดียว ตราบใดที่เสียงสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก เมื่อลงแข่งขันในเกมแล้ว แล้วไม่ได้ตามเกณฑ์ที่เกมกำหนดไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงละครให้มากความไม่ต้องแสดงความอาฆาตมาดร้ายใครๆ ไม่ต้องเล่นบทพระเอกเพื่อบีบหัวใจคนว่า สักวันจะกลับมา หากคิดว่าจะกลับมาก็กลับมาให้ได้ ไม่ต้องเล่นละครให้ดูแล้วเกิดความสมเพช
ย้อนกลับมาที่บทสรุปของการประท้วงด้วยการชักธงดำ โดยอ้างแบบไม่มีตรรกะว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องบอกแบบย้ำๆ ว่า การชักธงดำสู่ยอดเสาธงของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเสาธงมหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างเพื่อให้ชักธงอื่นใด นอกจากธงชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำผิดไปจากนี้จึงถือว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เมื่อผิดกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษตามข้อบังคับของกฎหมาย
แล้วก็ต้องฝากข้อเตือนใจทิ้งท้ายว่า การใช้พื้นที่ของเสาธงมหาวิทยาลัยเป็นการแสดงออกทางการเมืองเป็นการกระทำที่เหมาะสมจริงหรือ อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการชักธงดำ ดังนั้นก่อนจะทำอะไรกับสาธารณสมบัติ จงอย่าลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าอ้างประชาธิปไตยโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะมันคือการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ผู้ที่รัก ศรัทธาในหลักการประชาธิปไตยจริงๆ จะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ว่าจะละเมิดในเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ก็ตาม เพราะผู้รัก ศรัทธาในหลักประชาธิปไตยจริงๆ จะเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตลอดเวลา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี