มิตรสหายท่านหนึ่ง ส่งไลน์มาหา ด้วยข้อความว่า“โฮปเวลล์ เหลือ ตอม่อ รถไฟความเร็วสูง เหลือ ตอแหล”
รีบเปิดพจนานุกรมดูว่า “ตอแหล” คืออะไร?
พบคำอธิบายว่า ตอแหล เป็นคําด่าคนที่พูดเท็จ พูดปั้นเรื่อง พูดไม่ครบตามความเป็นจริง (มักใช้แก่ผู้หญิง) หรืออีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ช่างพูดและแสดงกิริยาน่ารัก (ใช้เฉพาะเด็กที่สอนพูด)
ไม่กล้าถามกลับว่า จะให้ตีเป็นความหมายไหน กลัวเพื่อนด่ากลับมาว่า “อีตอแหล” ฮ่าๆๆ
พูดถึงโฮปเวลล์ ก็ดีใจว่า เราไม่ต้องเสียค่าปรับให้แก่เอกชนแล้ว
พูดถึงรถไฟความเร็วสูง ก็พบข่าวใน “แนวหน้าออนไลน์” เพิ่งรายงานว่า
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yingluck Shinawatra” ระบุว่า
“วันนี้ (26 กันยายน) เมื่อปี 2556 เป็นวันที่รัฐบาลของดิฉัน ประกาศนโยบายรถไฟความเร็วสูงและการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตลอด เพราะโครงการใหญ่เช่นนี้ จะก่อให้เกิดการจ้างงานตั้งแต่ระดับผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงเกิดการลงทุนของเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นการเชื่อมระบบคมนาคมและขนส่งสินค้าตั้งแต่ห่วงโซ่การผลิตต้นน้ำไปยังปลายน้ำ อำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วน
วันนั้นหลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจประโยชน์และความจำเป็น แต่ดิฉันเชื่อว่าวันนี้สังคมเห็นแล้ว จึงขอย้อนเล่าแนวคิดการทำรถไฟความเร็วสูงอีกครั้งว่า ถ้าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง
1) การเชื่อมเมืองท่องเที่ยวจะสะดวกขึ้น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ
2) การเชื่อมอุตสาหกรรมจากผู้ผลิต แหล่งเพาะผู้ปลูกระดับจังหวัดไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งโดยรวมของประเทศลดลง
3) การเชื่อมเมือง จะเกิดการพัฒนาเมืองใหม่และการเข้าถึงระบบคมนาคมในจังหวัดรอง จังหวัดเล็กเพื่อเพิ่มและกระจายความเจริญจากเมืองใหญ่ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทำให้คนต่างจังหวัดเดินทางได้ง่ายขึ้น มีโอกาสเยี่ยมบ้านได้บ่อยขึ้น หรือถ้าอาศัยในเขตปริมณฑลก็สามารถไปทำงานในเมืองได้อย่างสะดวก
4) การเชื่อมระบบคมนาคมจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดอาเซียน เช่น การเชื่อมต่อจากหนองคาย ผ่านลาวไปยังจีน หรือแม้แต่จากเชียงราย เข้าเมียนมา และไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยซึ่งจะกระตุ้นการค้าชายแดน ทำให้การขนส่งทั้งคนและสินค้าทำได้สะดวกรวดเร็ว
น่าเสียดายค่ะ ถ้าโครงการนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น ป่านนี้เราคงมีรถไฟความเร็วสูงใช้กันแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ยังจะไม่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ดิฉันหวังว่าแนวคิดเช่นนี้จะไม่ถูกลืมหายไปเพราะจะเป็นการสร้างโอกาสให้คนไทย
คนต่างจังหวัดอย่างดิฉันฝัน และตั้งตารอที่จะได้เห็นระบบคมนาคมขนส่งที่ทำให้การเดินทางของคนไทยจากเมืองกรุงไปสู่ภูมิภาค สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงค่ะ”
อ่านแล้วก็ให้รู้สึกว่า (กู) จะคิดถึงความหมายที่ 1หรือที่ 2 ดีหว่า?
เรื่องนี้ ต้อง “พูดให้หมด-พูดให้ครบ” ว่าตอนนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำอะไร
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออก “ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ” เมื่อถูกถามว่า จะทำอะไรบ้าง จึงมีกระดาษไม่กี่แผ่น (ที่ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ใดๆ) มาแสดงกับสภา แต่ไปตีข่าวว่า จะทำรถไฟความเร็วสูง ซึ่งถ้าดูรายละเอียด จะพบว่า ระยะที่หนึ่งวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปหยุดที่นครราชสีมา กับหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ได้รับประกันด้วยว่าจะสร้าง เพราะเงื่อนไขคือ โยกงบประมาณไปทำโครงการอื่นได้
ต่อมามีการยื่นคัดค้านและตรวจสอบเรื่อง“ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน” ว่า กระทำโดยมิชอบ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ว่า การออก “ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.....” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 ด้วยมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 และกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วย มติ 6 ต่อ 2 ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปจากสภา (มิใช่คัดค้านหรือล้มล้างการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่คัดค้านเพราะว่า การตรากฎหมายขอกู้เงินนี้ กระทำโดยทุจริต และเมื่อกู้เงินมา เนื้อหาในร่างกฎหมายบอกว่า ไม่นำเข้าคลัง)
ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “พูดครบ” และอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริง เป็นที่ยุติว่า นายนริศร ทองธิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทยได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายจึงต้องขึ้นอยู่ในบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การที่ร่าง พ.ร.บ. บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัตินี้ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงินการคลัง และงบประมาณ จึงมีผลให้ร่าง พ.ร.บ. ตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรับผิดชอบต่อเงินงบประมาณซึ่งเป็นงบกลางภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่นำไปใช้ด้วยวิธีพิเศษ ผิดกฎหมายป.ป.ช. ม.103/7 จำนวน 240 ล้านบาท ในการเดินสายโฆษณาชวนเชื่อในโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่กฎหมายยังไม่ได้ผ่านและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และจะรับผิดชอบต่อการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ สส.รัฐบาลซึ่งผิดรธน.อย่างไร
ได้แต่หวังว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หนีคดีทุจริตจำนำข้าวไปนั่งโพสต์เฟซบุ๊คอยู่ที่ต่างประเทศ จะมีนิสัยกล่าวให้ครบ ให้ตรง ว่า ทำไมรถไฟความเร็วสูงจึงไม่ได้สร้าง อย่าเพียงแต่โพสต์ว่า “น่าเสียดายค่ะ ถ้าโครงการนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น ป่านนี้เราคงมีรถไฟความเร็วสูงใช้กันแล้ว”
ผมจะได้สลัดหลุดจาก “คำบางคำ” ที่ค้างคาอยู่ในหัวเสียที!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี