“โครงการคนละครึ่ง” เป็นหนึ่งในมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยที่มีพลเอกประยุทธ์-จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นำมาใช้รับมือกับผลกระทบที่ประชาชนเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2563 ช่วงเริ่มการระบาดของโรคระบาดโควิดแพร่กระจายไปทั่วโลกผลกระทบที่สังเกตได้ชัดเจนไม่ได้มีเพียงแต่ผลกระทบด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วทั้งโลก แน่นอนว่าไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากเช่นกัน
จากเอกสาร “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563” ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยใน ปี พ.ศ. 2563 หดตัว ร้อยละ 6.1 จากปีก่อนซึ่งเป็นการหดตัวอัตราสูงเทียบเท่ากับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
เนื่องจากภาครัฐกำหนดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าก็หดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ใช้ แรงงานโดยบางส่วนถูกเลิกจ้างหรือลดค่าจ้าง อันเป็นผลให้รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างรุนแรง สอดคล้องกันกับรายงาน ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกของ ปี 2563 ลดลง ร้อยละ 2.2 จากไตรมาสที่สี่ของ ปี 2562 การบริโภคของภาคเอกชนชะลอตัว
นอกจากนั้น สศช. ยังคาดการณ์ถึงการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจอันมีปัจจัยคล้ายกับรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในข้างต้น ได้แก่ ปัจจัยของการปรับตัวของเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก การลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงมูลค่าการส่งออกที่ลดลง
วัตถุประสงค์ของโครงการคนละครึ่งนั้นรัฐบาลลุงตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า “เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อทำการซื้อสินค้าจะได้รับค่าสนับสนุนจากภาครัฐ ร้อยละ 50 จำกัดวงเงินไม่เกิน 150 บาทต่อวันและไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ”
ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ค่อนข้างจะชัดเจนเพราะต้องสมัครเข้าโครงการ ที่ผ่านมามีผู้แจ้งความจำนงร่วมโครงการเกินกว่า 15 ล้านคน แม้เป็นการเปิดให้สมัครในห้วงเวลาจำกัด โครงการคนละครึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมการซื้อการขายสินค้าแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงรายย่อยให้กลับมาคึกคักขึ้นจนทำให้ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
โครงการ Digital Wallet ที่แจกให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนนั้น “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีบอกว่า ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 มีเงินเข้ามาในระบบ 560,000 ล้านบาท ถ้าท่านเป็นภาคอุตสาหกรรมท่านจะผลิตสินค้ามารองรับไหม จะต้องซื้อวัสดุเพื่อมาผลิตสินค้าเตรียมขายหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มไหม แล้วเงินจะเข้ามาอยู่ในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนเท่าไหร่ เราตั้งใจให้เงินถูกเอาไปใช้ในพื้นที่ตามบัตรประชาชน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนที่อยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว
ประเด็นคือการทุ่มงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต่างจากโครงการคนละครึ่งอย่างไร แถมเม็ดเงินที่ใช้จ่ายในโครงการไม่ได้มากมหาศาลอีกต่างหาก นำเม็ดเงินบางส่วนไปให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงเงินกู้ได้โดยง่าย จ่ายค่าสวัสดิการผู้สูงอายุให้มีกำลังซื้อกำลังบริโภคเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย
แน่นอนโครงการคนละครึ่งอาจจะเกิดจากสมองของทหารในระบอบเผด็จการที่หาญกล้าออกมานำพาพี่น้องประชาชนก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคไปด้วยกัน อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากบุคคลที่รัฐบาลนี้จิกหัวด่ามาตลอดว่าโง่เขลา ทำบ้านเมืองฉิบหายมากว่า 9 ปี
แต่อย่าอายหากว่าโครงการนี้มีผลสัมฤทธิ์ไม่ต่างกัน ใช้เงินจำนวนแตกต่างกัน เสี่ยงน้อยกว่ากัน เพราะได้ทำแล้ว พิสูจน์ผลแล้วเอามาทำต่อทำอีกก็น่าจะดีกว่าทำโครงการที่เปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ จนกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ หากท่านผู้นำรัฐบาลและรัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี