สถานการณ์ปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมากว่า 20 ปี หลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแต่ทรงกับทรุด และสถานการณ์มีแนวโน้มไต่ระดับเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เป็นบาดแผลเรื้อรัง กลายเป็นไฟสุมขอนที่รอวันปะทุครั้งแล้วครั้งเล่า
นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็น ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า 33.45% สถานการณ์แย่เหมือนเดิมรองลงมา 20.36% ระบุว่า สถานการณ์ดีเหมือนเดิม และมีเพียง 18.55% เท่านั้นที่บอกว่า สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น
กรณีเหตุรุนแรงระลอกล่าสุด คนร้ายบุกกราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ศพ บาดเจ็บอีก2 ราย หนึ่งในนั้นมีเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ตกเป็นเหยื่อคมกระสุนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กับการก่อเหตุ
ยิงหญิงชราพิการกับลูกอีก 2 ศพ คือบทสะท้อนที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของอำนาจรัฐได้อย่างชัดเจนที่สุด
ปฏิบัติการลงมืออย่างชั่วช้าดังกล่าว นับเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เลย แถลงการณ์ประณามของหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่อาจเยียวยาความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียได้เช่นกัน จึงมีเสียง
เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับความเข้มข้นใช้มาตรการเชิงรุกดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ต้องยอมรับว่า อำนาจรัฐล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความชัดเจน และจริงจังที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาดับไฟใต้ สิ่งที่รัฐบาลส่งสัญญาณเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ การขับเคลื่อนผ่านบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน อย่างเป็นด้านหลัก โดยคาดหวังว่าจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แก้ไขสถานการณ์ให้ทุเลาเบาบางลง
แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีเห็นอะไรดีขึ้น คำกล่าวที่ว่าภายในปีนี้จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในสันติภาพชายแดนใต้ และเชื่อว่าปีหน้าน่าจะจบ ยังเป็นแค่ราคาคุยตามแบบฉบับของฝ่ายการเมือง ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์กลับยิ่งปะทุขึ้นถี่ยิบ กลุ่มผู้ก่อการยังพุ่งเป้าโจมตีฝ่ายพลเรือนแบบมีนัยสำคัญ
มีการเสนอแนวทางแก้ไขจากหลายฝ่ายอย่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน เร่งจัดทำข้อเสนอและข้อสังเกตที่จะเสนอต่อสภา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ซึ่งมี3 แนวทางคือ 1.ทบทวนยุทธศาสตร์การทำงาน2.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และ 3.ให้ความสำคัญกับการเจรจากับผู้เห็นต่างอย่างจริงจัง
การเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพ จึงเป็นยาสามัญของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุเลวร้าย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน หลังจากหยุดชะงักมากว่า 9 เดือน นับจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมาถึงรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทยชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม กลไกการเจรจาสันติภาพเป็นอีกแนวทางที่ฟังดูดี และเป็นแนวทางสากลสำหรับยุติความขัดแย้งต่างๆ มีการหยิบยกกรณีตัวอย่างจากหลายชาติที่คลี่คลายสถานการณ์ลงได้จากการเจรจา แต่สำหรับปัญหาไฟใต้ใน 3 จังหวัดนั้นในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ง่ายเลยเนื่องเพราะอีกฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อการแบ่งแยก ไม่ใช่เจรจา อีกทั้งสถานการณ์ยังทับถมซับซ้อนมาหลายสิบปี แม้แต่รัฐเองก็ยังไม่ทราบชัดเจนว่ามันเกิดจากการกระทำของใคร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี