“เมืองไทยหายาเสพติดได้ง่ายมาก” คุณเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวนี้ และมีคำถามต่อไปว่า “ทำไมตำรวจและหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของไทยจึงไม่สามารถจับกุมหัวหน้าขบวนการค้ายาเสพติดได้ แต่แล้วทำไมจับได้แค่พวกปลายแถวท้ายขบวน”
ประเด็นคำพูดและคำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยพูดและถามกันทุกวัน แต่คนที่ตอบเรื่องนี้ไม่ได้ก็คือ ตำรวจ หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดและรัฐบาล
เมื่อผู้มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จึงต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยกลอุบายต่างๆ เช่น ในยุคทักษิณ ชินวัตรครองเมือง ก็ใช้การโฆษณาชวนเชื่อทำนองประกาศสงครามกับยาเสพติด ที่เน้นการฆ่าตัดตอนกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด แต่สุดท้าย ก็ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยได้ แต่กลับกลายเป็นการฆ่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดโดยกระบวนการศาลเตี้ย
มายุคนี้ รัฐบาลก็ยังคงพยายามเสมือนว่าจะแก้ปัญหายาเสพติด โดยมองว่าต้องแก้ที่การครอบครองยาเสพติด เช่น เสนอว่ามียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 10 เม็ด ไม่ถือเป็นผู้ค้ายาเสพติด เพราะเชื่อเอาเองว่า หากแก้เรื่องจำนวนหรือปริมาณการครอบครองยาเสพติดแล้วจะช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดในข้อหาค้าขายจำหน่ายยาเสพติดได้ และจะช่วยลดจำนวนคนคุกเนื่องจากคดียาเสพติดลงได้บ้าง เพราะว่าคุกไทยนั้นเต็มไปด้วยผู้ต้องขังคดียาเสพติดจนคุกจะระเบิดอยู่แล้ว
อ้างสถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติด ล่าสุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มีจำนวน 204,147 คนจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดทั่วประเทศ 271,967 คนสรุปว่าจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีมากถึง75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ต้องขังทั้งหมดในประเทศไทย
ขอยืนยันว่าปัญหายาเสพติดในไทยคิดปัญหาใหญ่ เรื่องหนึ่งของประเทศ เป็นปัญหาที่ขจัดให้หมดไปได้ยากมาก ซึ่งก็นับว่าเป็นปัญหาสังคมที่สร้างความเลวร้ายไม่ด้อยไปกว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ปัญหายาเสพติดส่งผลให้มีจำนวนผู้ต้องขังจำนวนมากมาย ซึ่งผิดกับจำนวนผู้ต้องขังในคดีทุจริตคอร์รัปชัน เพราะคดีหลังนั้นผู้กระทำผิดถูกลงโทษน้อยมาก แถมบางคนทำผิดอย่างฉกาจฉกรรจ์ แต่กลับไม่ต้องคิดคุกติดตะราง แถมยังได้นอนในห้องสุดหรูของโรงพยาบาลตำรวจอีกด้วย
มาตรการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แกว่งไกวไป-มา ไม่เคยมีเอกภาพ ไม่เคยมีหลักการที่มั่นคงชัดเจน รัฐบาลยุคหนึ่งก็แก้ปัญหายาเสพติดไปทางหนึ่ง พอหมดยุคแนวทางแก้ปัญหาก็เปลี่ยนไป เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก็ตั้งต้นแก้ปัญหาเดิมด้วยนโยบายใหม่ เมื่อแนวทางแก้ปัญหาไม่มีเอกภาพ เพราะนักการเมืองที่มีอำนาจรัฐ หวังเพียงคะแนนนิยมทางการเมืองมากกว่าตั้งใจแก้ปัญหาให้ลุล่วงจริงจัง ก็จึงไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ล่าสุด มีการเสนอแนวคิดจากชลน่าน ศรีแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ผู้ครอบครองยาบ้าไม่ถึง 10 เม็ด คือผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า แต่เมื่อย้อนหลังไปไม่นาน เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยเสนอว่าผู้ที่มียาบ้าในครอบครองเกิน 1 เม็ด ถือเป็นผู้ค้า ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ทำให้สังคมเกิดความสับสนมาก เพราะว่าแค่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่กี่วัน นโยบายเรื่องการเป็นผู้ค้ายาบ้าก็เปลี่ยนไปจนสังคมสับสน
การจะแก้ป้ญหาสำคัญของประเทศชาติให้ลุล่วงได้ ต้องมาจากการตั้งต้นที่ถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก หากนโยบายโยกไปโยกมา เปลี่ยนแปลงไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจรัฐ รับรองว่าไม่มีวันแก้ปัญหาสังคมของประเทศไทยได้ ดังนั้น อันดับแรกที่ต้องแก้เป็นการด่วนคือ ต้องสร้างความเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบายสำคัญก่อน แล้วต้องพิถีพิถันเลือกคนที่จะเข้าไปเป็นผู้กำหนดนโยบายด้วย หากยังเลือกคนไร้หลักเกณฑ์ ปราศจากหลักการ ก็ไม่ต้องหวังจะแก้ปัญหาให้ประเทศไทยได้ แต่จะกลายเป็นลิงแก้แห สุดท้ายบ้านเมืองจะพินาศบรรลัย เพราะคนกำหนดนโยบายคือตัวปัญหาเสียเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี