รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ที่คนรู้จักกันดีนั่นยังมีคนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บ้าง ทั้งๆ ที่ผู้ร่างชุดนี้ได้มีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยต่อมาหลายช่วงเวลา ย้อนไปเมื่อ 92 ปีที่แล้ว ในสภาผู้แทนราษฎร หลวงประดิษฐ์ได้เสนอว่า“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะได้สร้างขึ้นด้วยเวลากะทันหัน อาจมีข้อบกพร่องได้ …”
สภาฯได้เลือกอนุกรรมการสภา 7 นาย มีพระยามโนฯ พระยาเทพวิฑูรฯ พระยามานวราชเสวีพระยานิติศาสตร์ฯ พระยาปรีดานฤเบศร์หลวงประดิษฐ์ฯ และหลวงสินาดโยธารักษ์คณะอนุกรรมการชุดนี้ก็น่าจะเสมือนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสมัยนี้ มาดูพื้นฐานและประสบการณ์ของแต่ละท่าน คนแรกหัวหน้ารัฐบาล เป็นนัก กฎหมายไทย เรียนจบกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมแล้วได้ทุนไปศึกษาต่อจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ มีประสบการณ์ในการทำงานมากทั้งในและนอกกระทรวงยุติธรรมคนที่ 2 เป็นอธิบดีศาลฎีกา เรียนจบกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมและได้ทุนไปเรียนอังกฤษจบเป็นเนติบัณฑิตจากอังกฤษ คนที่ 3 เป็น อธิบดีกรมอัยการเรียนจบในประเทศเป็นนิติบัณฑิตทางกฎหมาย และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่อังกฤษได้เนติบัณฑิตจากอังกฤษเช่นกันคนที่ 4 เป็นอธิบดีศาลอาญา จบทั้งเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ คนที่ 5 ศึกษาจบเป็นเนติบัณฑิตไทยทำงานในกระทรวงยุติธรรมเคยเป็นตุลาการ ต่อมาได้ลาออกจากราชการมาทำงานทางด้านกฎหมาย รับงานเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงมาก คนที่ 6 ทำงานเป็นตุลาการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม เป็นนักเรียนฝรั่งเศสคนเดียวในคณะอนุกรรมการ และเป็นอนุกรรมการคนเดียวที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร คนที่ 7 เป็นนายทหารคนเดียวในคณะอนุกรรมการ มียศทหารบกเป็นนายพันตรีไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะราษฎรแต่อย่างไร ไม่มีข้อมูลด้านความรู้ทางกฎหมาย มีคนเล่ากันว่าท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายพันตรีหลวงพิบูลสงครามเท่านั้น ดังนั้นในคณะอนุกรรมการชุดนี้ เสียงข้างมาก 4 คน จึงเป็นผู้ที่ศึกษามาจากอังกฤษ และมีพระยาหนึ่งคนเป็นนักเรียนกฎหมายในประเทศ ที่เคยทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีนักเรียนฝรั่งเศสหนึ่งคน มีนายทหารระดับกลางหนึ่งคน พอคาดคะเนได้ว่ารูปแบบระบบการเมืองของสยามน่าจะเป็นแบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขแบบอังกฤษ
การตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันแรกที่มีการตั้งรัฐบาลเช่นนี้ แสดงว่าทั้งรัฐบาลและคณะราษฎรถือว่าการทำรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่การเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดีในกระทรวงต่างๆ ยังมิได้ทำในวันแรกนี้ หากแต่ทำต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อหัวหน้ารัฐบาลเป็นอนุกรรมการอยู่ด้วย
ที่ประชุมฯ จึงได้เลือกท่านเป็นประธาน
การร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 ได้มีสมาชิกสภาฯลาออก และสภาฯได้ตั้งนายพลเรือโท พระยาราชวังสัน เข้ามาเป็นแทน พระยามโนฯ ประธานคณะกรรมการราษฎรได้เสนอชื่อบุคคลเพิ่มเติม และสภาฯได้แต่งตั้งสมาชิกสภาฯ 2 ท่าน คือพระยาศรีวิสารวาจา กับพระยาราชวังสันเป็นอนุกรรมการร่างฯในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2475 พระยาศรีวิสารฯนั้นจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นกรรมการราษฎรอยู่ด้วย ส่วนพระยาราชวังสันเป็นพี่ชายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ผู้นำฝ่ายทหารเรือของคณะราษฎร มีข้อมูลว่าท่านสนใจทางด้านกฎหมายและเป็นผู้บรรยายของกองทัพเรือ เมื่อตั้งเพิ่มอีกสองคนเสียงส่วนมากในคณะอนุกรรมการก็ยังเป็นนักกฎหมายจากอังกฤษเหมือนเดิม
ที่น่าบันทึกไว้ก็คือมือร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญได้เร็วทันตามเวลา ใช้เวลาทั้งหมดตลอดจนนำเสนอสภาฯในตอนกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และสภาฯได้พิจารณาแก้ไขจนผ่านออกมาประกาศใช้ได้ในวันที่10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ใช้เวลาประมาณห้าเดือนกับอีกไม่กี่วันเท่านั้นเอง
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี