หนึ่งในผลงานของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร สมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสส.และรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยนำมายกย่องเชิดชูอวดสรรพคุณว่าเป็นผลงานอันยอดเยี่ยม นอกเหนือจากโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ก็คือนโยบายปราบปรามยาเสพติด
แต่อันที่จริงแล้ว เบื้องหลังเกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดมีด้านมืดที่“ทักษิณ ชินวัตร”และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ก่อบาปกรรมเอาไว้ในปี 2546 ซึ่งนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมกล่าวถึง และถ้าหากประสบความสำเร็จจริง วันนี้สังคมไทยก็คงไม่ต้องมานั่งวิตกเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่เป็นปัญหากัดกร่อนประเทศชาติ และรัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะปราบปรามให้สำเร็จภายใน 1 ปี
อีกทั้งเวลานี้รัฐบาลก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ที่กำหนดให้ผู้ครอบครองยาบ้าจำนวนนี้เป็นผู้เสพที่ต้องบำบัดรักษา ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะการกำหนดเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหันมาค้ายาบ้ามากขึ้น เนื่องจากพกพาง่ายและขายสะดวก อันจะทำให้จำนวนผู้ค้ารายย่อยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คนไทยหันมาเสพยาบ้ามากขึ้น ด้วยเหตุที่หาซื้อยาบ้าได้ง่าย
เมื่อทั้งจำนวนผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น ก็อย่าได้หวังว่า ปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าจะหมดไปจากสังคมไทยดังที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนว่าจะปราบปรามให้สำเร็จ
ทุกวันนี้ตัวเลขผู้เสพยาบ้าในบ้านเราจากการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนสูงถึง 1.5 ล้านคน และที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้น ดูตัวเลขผู้เสพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่ในบัญชีทั้งหมด 530,000 คน ปรากฏว่าเป็น “บุคคลสีแดง” หรือบุคคลที่พร้อมจะทำร้ายผู้อื่นถึง 32,000 คน ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะมีมากกว่านี้หลายเท่า
หากย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีที่แล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทักษิณได้ประกาศตัวเป็นแม่ทัพในการทำสงครามยาเสพติดแบบ“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2546 นั้น ได้ใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งด้วยการ“ฆ่าตัดตอน”และการวิสามัญฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนกับตั้งตนเป็น“ศาลเตี้ย”
ผลสรุปของคณะกรรมการสอบสวนหลายๆ คณะเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวในเวลาต่อมา ชี้ว่าการประกาศสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดของ“ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงในสังคม และสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะคำพูดของผู้กำหนดนโยบายคือ“ทักษิณ ชินวัตร”ที่ประกาศให้เป็น“สงคราม” ซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมความรุนแรงในการปราบปรามผ่านแนวคิดจากผู้กำหนดนโยบายลงไปสู่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ทั้งกระตุ้นและปลุกเร้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ดังจะเห็นได้จากคำประกาศของ“ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2546 ที่ได้กล่าวระหว่างการประชุมมอบหมายนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ว่า “...สำหรับคนค้าท่านต้องใช้ Irom fist หรือกำปั้นเหล็ก ใช้ความเด็ดขาดอย่างชนิดที่ไม่ต้องปรานี พล.ต.อ.เผ่าศรียานนท์ เคยกล่าวไว้ว่า “ภายใต้แสงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เพราะฉะนั้น เรื่องยาเสพติดผมมั่นใจว่าตำรวจไทยจัดการได้ ขอให้ทำเต็มที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องช่วยสนับสนุนและต้องทำด้วยกัน ถ้าล้มเหลวทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดก็คงต้องไปด้วยกัน...ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดมีสองที่ คือถ้าไม่ไปคุก ก็ไปวัด..” และจากรายการ“ทักษิณคุยกับประชาชน”เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2546 ว่า “บางที (ผู้ค้ายาบ้า) ถูกยิงตายก็ต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ผมคิดว่าเราต้องเหี้ยมพอกัน”
อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดนั้น “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษฯ” หรือ คตน. ที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่งตั้งขึ้นภายหลังรัฐบาลไทยรักไทยพ้นอำนาจ ในปี 2549 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ระบุว่านโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ“ทักษิณ ชินวัตร” ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ด้วยเหตุที่ผู้ออกนโยบายและผู้ปฏิบัติตามนโยบายไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐ
ตัวเลขของคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธานกรรมาธิการ (สิงหาคม, 2546) ชี้ว่า ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการทำสงครามปราบปรามยาเสพติด มีเหตุฆาตกรรมด้วยการลอบสังหารแบบยิงทิ้ง หรือการฆ่าตัดตอนประชาชนผู้มีรายชื่ออยู่ใน“บัญชีดำ”ของทางการถึง 1,612 ราย ซึ่งบัญชีดำดังกล่าวนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ในเวลานั้น ที่มีนายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน กสม. ระบุว่า ถูกจัดทำโดยขาดการอ้างอิงหลักฐานที่ชัดเจนและไม่มีพยานยืนยันให้แน่ชัด ว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดจริงหรือไม่
และที่สำคัญ ผลสรุปของคณะกรรมการอิสระทุกชุดที่ถูกตั้งขึ้นมาสอบสวน ได้ระบุต้องตรงกันว่า นโยบายปรามปรามยาเสพติดของพรรคไทยรักไทยที่มี“ทักษิณ ชินวัตร”เป็นนายกรัฐมนตรี และทำให้มีคนเสียชีวิตนับพันรายนั้น ถือว่าเข้าข่ายความผิดที่เป็น“อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” โดยละเมิดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 (พ.ศ. 2491) แต่กระนั้นก็ตาม ความผิดดังกล่าวนี้มิอาจดำเนินคดีกับทักษิณด้วยการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ
นี้คือด้านมืดของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต และเป็นตราบาปที่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อกรรมไว้ !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี