วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้มีการนัดประชุมสภาฯอีก ในวันนั้นสภาฯได้มีมติเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ยังว่างอยู่อีก 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วยพระยาสุริยานุวัตร พระยาอภิบาลราชไมตรี นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล และหลวงวิจิตรวาทการสมาชิกใหม่ทั้ง 4 นาย นี้ พระยาสุริยานุวัตรนั้นเป็นบิดาของด็อกเตอร์ประจวบ บุนนาค ซึ่งเป็นผู้ก่อการสายพลเรือน ท่านเจ้าคุณเป็นผู้ที่มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับพระยาพหลฯพระยาสุริยาฯนี้ยังเป็นผู้ที่ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้วทางคณะได้อาศัยท่านเป็นผู้ออกไปชี้แจงให้ราษฎรและข้าราชการที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หัวเมืองทางภาคเหนือได้เข้าใจแนวทางของคณะราษฎรและรูปแบบการปกครองใหม่ ส่วนพระยาอภิบาลราชไมตรี อดีตทูตที่ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศต่อจากพระยาศรีวิสารวาจาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2475 ส่วนกรณีพระสิทธิเรืองเดชพลนั้น เป็นนายทหารที่อยู่ในกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารที่คุมกำลังสำคัญในพระนครอยู่
วันรุ่งขึ้น วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ครบรอบหนึ่งปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จำนวน 14 นายดังนี้ คือ 1. หนึ่งนายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าราชการฝ่ายปกครองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 3.พระยาโกมารกุลมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ท่านเป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 4.เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลัง เจ้าพระยาศรีฯ เป็นข้าราชการตุลาการมาก่อน แต่เคยมีประสบการณ์เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม 5. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของท่านในรัฐบาลเก่าของพระยามโนฯ 6.พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีทำการแทนว่าการกระทรวงยุติธรรมชื่อตำแหน่งดูแปลกกว่าคนอื่น มีคำว่าทำการแทน แต่หน้าที่ก็คือดูแลกระทรวงยุติธรรมนั่นเอง จากนั้นรัฐมนตรีตั้งแต่หมายเลข 7 ถึงหมายเลข 14 จำนวน 8 นาย เป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง หรือภายหลังเรียกกันว่ารัฐมนตรีลอย ประกอบด้วย พระยาสุริยานุวัตรนายพลเรือ พระยาปรีชาชลยุทธ์ นายพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล นายพันโท หลวงพิบูลสงครามนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย นายนาวาโท หลวงสินธุสงครามชัย หลวงนฤเบศร์มานิต และหลวงสิริราชไมตรี โดยมีนักเศรษฐศาสตร์สำคัญคือพระยาสุริยาฯ
ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นายกรัฐมนตรีนำรัฐบาลเข้าแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่น่าสังเกต ในการแถลงนโยบาย มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ
ประการแรก นายกรัฐมนตรีบอกว่า “รัฐบาลนี้จะเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งยิ่งขึ้น”แสดงว่ารัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของเรื่องการติดต่อกับทางต่างประเทศ แต่ในการตั้งคณะรัฐมนตรี กลับไม่ได้ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นการเฉพาะซึ่งก็หมายความว่าน่าจะให้นายกรัฐมนตรีนั่นเองเป็นผู้รับผิดชอบ
ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีแถลงว่า “รัฐบาลนี้เห็นว่าหลักหกประการที่สภาผู้แทนราษฎรรับรองแล้วนั้น เป็นหลักนโยบายที่ทุกกระทรวงทบวงการจะร่วมมือกันดำเนินการต่อไปได้” แสดงว่ายืนยันอย่างชัดเจนถึงนโยบายของคณะราษฎร ซึ่งย่อมหมายถึงนโยบายที่จะแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจด้วยนั่นเอง
ประการที่สาม ในการลงมติไว้วางใจรัฐบาลนั้นได้ดำเนินการในวันเดียวกันกับที่มีการอภิปราย ดังที่ประเสริฐ ปัทมาสุคนธ์ ได้บันทึกไว้ว่า “สภาได้ลงมติให้ความไว้วางใจเป็นเอกฉันท์ในวันเดียวกัน” นี่นับเป็นครั้งที่สองที่การลงมติไว้วางใจสามารถกระทำได้ในวันเดียวกันกับวันที่มีการอภิปรายได้ ครั้งแรกในสมัยพระยามโนฯเป็นนายกรัฐมนตรี
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี