ช่วงนี้กำลังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการพระเครื่องของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อความนิยมและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องในขั้นใหม่ นั่นคือการที่วงการพระเครื่องได้ให้การยอมรับนับถือว่าพระสมเด็จรุ่นสองแผ่นดินที่เคยปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริงและเป็นของปลอมทั้งหมดว่าเป็นพระสมเด็จที่มีอยู่จริง
ในบรรดาพระเครื่องทั้งหลายที่มีมาในประเทศไทยนั้นต้องนับว่ามีมาช้านานแล้ว อย่างน้อยก็นับพันปี เป็นเรื่องที่คนไทยแต่ยุคโบราณสร้างพระเครื่องขึ้นเพื่อเป็นพระประจำตัวหรือเป็นพระประจำวันเกิด และต่อมาก็ได้นับถือว่าเป็นของขลังอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมเนียมนับถือต่อเนื่องมา
ในบรรดาพระเครื่องทั้งหลายที่มีมาในประเทศไทยนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าพระสมเด็จวัดระฆังได้รับความนิยมนับถือมากที่สุด และถือว่าเป็นพระเอกของพระเครื่องหรือเป็นราชาแห่งพระเครื่องก็ได้ ทั้งๆ ที่บรรดาพระเครื่องทั้งหลายนั้นนับแต่อดีตมาต้องถือว่าพระสมเด็จเป็นพระที่มีอายุปรากฏขึ้นเพียง 150 ปี ในขณะที่พระเครื่องบางประเภทมีอายุนับพันปีหรือ 700 ปี
ไม่ต้องดูอื่นไกล ในกรณีที่มีการแขวนพระเครื่องหลายองค์ ก็มักเป็นที่นิยมกันที่จะแขวนพระสมเด็จไว้เป็นองค์กลางหรือองค์ประธาน
พระสมเด็จที่ว่านี้หมายถึงพระสมเด็จวัดระฆัง คือวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท แต่เป็นวัดอันเป็นที่สถิตของปฐมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นวัดที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระผู้สร้างพระสมเด็จเคยเป็นเจ้าอาวาสครองวัดนี้ในช่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และได้ละสังขารในต้นรัชกาลที่ 5 คือปี พ.ศ. 2415
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือหลวงพ่อโต ว่ากันว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้านอกทำเนียบในรัชกาลที่ 2 และเคยได้รับพระราชทานเรือที่นั่งสำหรับยศชั้นหม่อมเจ้าในสมัยรัชกาลที่ 4
เจ้าประคุณสมเด็จเป็นพระสงฆ์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงพรหมวิหารธรรม และทรงไว้ซึ่งอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่อัศจรรย์มาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม โดยเป็นศิษย์เอกของหลวงตาแสง พระมหา เถราจารย์ผู้เรืองวิทยาคมในยุคนั้น
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระมหาเถระสองรูปที่วางธุระพระพุทธศาสนาซึ่งอาจเกี่ยวข้องด้วยเหตุผลทางการเมือง นั่นคือพระมหาสาวัดราชประดิษฐ์ และเป็นสหายธรรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นเปรียญเก้าประโยคตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรได้ลาสิกขาบทออกไปครองเพศฆราวาส ในขณะที่หลวงพ่อโตได้หลีกลี้ออกธุดงค์ ถึงแม้ทางราชการจะตามตัวเท่าไรก็หาไม่พบ
ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ก็โปรดให้ตามสองท่านนี้ และมีรับสั่งให้นายสาเข้าอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง และต้องสอบเปรียญธรรมใหม่ ซึ่งสำเร็จเปรียญเก้าประโยคอีกครั้งหนึ่งพระมหาสาจึงเป็นผู้จบเปรียญ 18 ประโยค แต่เพียงรูปเดียวในคณะสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้และต่อมาก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลที่ 4 นับเป็นพระสหายในธรรมองค์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักเสด็จไปสนทนาธรรมชนิดนอนคุยเล่นกันตลอดทั้งคืนเป็นประจำ
ส่วนหลวงพ่อโต ก็โปรดเกล้าฯ อาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ นับเป็น 1 ใน 5 ของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จจนกระทั่งละสังขาร
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต มีน้ำใจเมตตาต่อราษฎรทั้งปวง ดังนั้นจึงได้สร้างพระเครื่องแจกจ่ายแก่ราษฎรมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มๆ ได้สร้างพระขึ้นหลายแบบหลายชนิดจนนับชนิดนับแบบไม่ถ้วน
แต่อาจนับเนื่องพระสมเด็จที่เจ้าประคุณสมเด็จได้สร้างขึ้นเป็นสองช่วง คือช่วงก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ พระเครื่องที่สร้างขึ้นในห้วงเวลานี้แม้ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นพระสมเด็จ แต่นักพระเครื่องทั้งหลายก็อนุโลมนับเนื่องว่าเป็นพระสมเด็จเช่นเดียวกัน เพราะหลายรุ่นที่ได้สร้างขึ้นก็มีรูปแบบรูปทรงเป็นแบบพระสมเด็จ และมีระฆังครอบมาแต่ก่อนที่จะครองวัดระฆัง
ดังนั้นรูปแบบระฆังครอบจึงไม่ใช่เฉพาะพระสมเด็จวัดระฆัง เหตุที่ใช้สัญลักษณ์เป็นระฆังครอบก็เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธคุณจะคุ้มครองป้องกันประดุจมีระฆังทิพย์คุ้มครองป้องกันผู้เลื่อมใสนับถือนั้น ดังนั้นเมื่อมาครองวัดระฆังแล้วก็ยังใช้รูปแบบนี้ซึ่งสอดคล้องกับนามของวัดระฆัง จึงทำให้เกิดความเข้าใจสับสนว่าพระสมเด็จที่มีสัญลักษณ์ระฆังครอบได้สร้างขึ้นในยุคที่เจ้าประคุณสมเด็จเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังแล้ว
พระสมเด็จที่สร้างในช่วงที่สองได้สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ได้รับสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งได้สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2415ซึ่งเป็นปีที่เจ้าประคุณสมเด็จดับขันธ์
หลังจากเจ้าประคุณสมเด็จดับขันธ์แล้ววัดระฆังก็ยังคงสร้างพระสมเด็จสืบทอดต่อเนื่องมา โดยเฉพาะพระสมเด็จที่สร้างนับแต่ปีที่เจ้าประคุณสมเด็จดับขันธ์มาจนถึงช่วงที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังได้ใช้ผงเก่าที่ทำไว้ตั้งแต่ยุคเจ้าประคุณสมเด็จยังมีชีวิตอยู่ และได้ทำตามแบบแผนพิธีเฉพาะของวัดระฆัง
ส่วนพระสมเด็จที่วัดระฆังสร้างขึ้นหลังยุคพระเทพสิทธินายกเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังอยู่นั่นเอง
สำหรับพระสมเด็จรุ่นสองแผ่นดินเป็นพระสมเด็จที่สร้างขึ้นในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ครบ 1 ปี และมีลักษณะเป็นพิเศษกว่าพระสมเด็จทั้งหลาย ซึ่งจะได้พรรณนาในรายละเอียดต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี