พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระองค์ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง และอาณาจักรอยุธยาได้ดำรงคงอยู่มาเป็นระยะเวลา ๔๑๗ ปี
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่จัดการปกครองบ้านเมืองโดยมีการจัดแบ่งโครงสร้างที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เรียกว่า จตุสดมภ์
เชื่อกันว่ารูปแบบการจัดการปกครองแบบจตุสดมภ์นั้น พระเจ้าอู่ทองทรงนำแบบอย่างมาจากขอม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลในดินแดนละแวกนี้มาแเต่เดิม โดยแบ่งส่วนการปกครองเป็น ๔ กรม คือกรมเวียง กรมวัง กรมคลังและกรมนา โดยผู้ที่รับผิดชอบจะมีตำแหน่งเป็นขุน คือขุนเวียง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา
กรมเวียง ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร และทุกข์สุขของราษฎร ปราบโจรผู้ร้าย ตัดสินคดีความร้ายแรง
กรมวัง ทำหน้าที่ดูแลพระมหากษัตริย์และกิจการในพระราชสำนัก และพิพากษาคดีให้ราษฎร
กรมคลัง ทำหน้าที่ติดต่อการค้าขายกับต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรและรายได้ของแผ่นดิน
กรมนา ทำหน้าที่ดูแลการทำมาหากิน การประกอบอาชีพของราษฎร และเก็บรักษาเสบียงอาหารเพื่อใช้ในยามศึกสงคราม
การปกครองแบบจตุสดมภ์นั้น ได้มีการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในอาณาจักรอยุธยาคือ ๔๐ ปีโดยในปีพุทธศักราช ๒๐๐๖ ได้มีการปรับปรุงโดยจัดตั้งกรมใหญ่ขึ้น 2 กรม ได้แก่ กรมมหาดไทยและกรมกลาโหม
กรมมหาดไทย มีสมุหนายกเป็นอัครเสนาบดี มียศและพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก เป็นผู้บังคับบัญชากิจการพลเรือนทุกหัวเมือง ควบคุมกรมต่างๆ ฝ่ายพลเรือนรวมทั้งกรมในจตุสดมภ์
กรมกลาโหม มีสมุหพระกลาโหมเป็นอัครเสนาบดี มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยะภักดีนรินทรสุรินทรฤาชัย มีหน้าที่ว่าราชการฝ่ายทหารทั้งในราชธานี และหัวเมืองต่างๆ ควบคุมดูแลกรมต่างๆ ที่เป็นกลุ่มฝ่ายทหาร
มีการเปลี่ยนชื่อกรมในจตุสดมภ์ทั้ง 4 กรม รวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบดังนี้
กรมเวียง เปลี่ยนชื่อเป็นกรมพระนครบาล ทำหน้าที่ปราบโจรผู้ร้าย รักษาความสงบภายในราชอาณาจักร และตัดสินคดีความร้ายแรง มีพระยายมราชอินทราธิบดีฯเป็นเสนาบดี
กรมวัง เปลี่ยนชื่อเป็นกรมธรรมาธิกรณ์ ดูแลงานในพระราชสำนัก งานธุรการ การตัดสินคดีความ และแต่งตั้งยกกระบัตรดูแลหัวเมืองต่างๆ มีพระยาธรรมาธิบดีศรีวิริยพงษฯ หรือพระยาธรรมาาธิบดี เป็นเสนาบดีดูแล
กรมคลัง เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโกษาธิบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ การค้ากับต่างประเทศ บัญชีพัสดุและอาวุธของราชการ ดูแลพระคลังหลวง และรับรองทูตต่างประเทศรวมทั้งตัดสินคดีความของต่างชาติ มีพระยาศรีธรรมราชเดชาชาติอำมาตยานุชิตฯ หรือพระยาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดี
กรมนา เปลี่ยนชื่อเป็นกรมเกษตราธิการ ทำหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนา เก็บข้าวไว้เป็นเสบียงยามสงคราม ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นาและออกกรรมสิทธิ์ที่นาแก่ราษฎร โดยมีพระยาพลเทพราชเสนาบดีฯ เป็นเสนาบดีรับผิดชอบกรมนี้
การเปลี่ยนรูปแบบการปกครองครั้งนี้เป็นผลมาจากเป็นช่วงที่อาณาจักรอยุธยาแผ่ขยายออกไปมากขึ้น รวมทั้งมีการผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาด้วยในปีพุทธศักราช ๑๙๘๑ ทำให้ต้องปฏิรูปเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยได้นำแนวความคิดของรูปแบบการปกครองจากอาณาจักรสุโขทัยมาใช้
การปกครองแบบจตุสดมภ์นี้ได้ถูกใช้บริหารราชการแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงเล็กน้อยในช่วงปลายสมัยอาณาจักรอยุธยา รวมทั้งในตอนต้นอาณาจักรรัตนโกสินทร์ด้วย จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งในปีพุทธศักราช ๒๔๓๕
จากเหตุและปัจจัย ๓ ประการคือการแผ่ขยายของลัทธิจักรวรรดินิยม และมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ต้องมีการปรับปรุงระบบการค้าการจัดเก็บภาษีและระบบยุติธรรม การเกิดรัฐชาติคืออาณาจักรสยามขยายตัวออกไปมากขึ้น รวมทั้งความซับซ้อนทางสังคม ทำให้ภาระงานต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น การจัดการปกครองแบบจตุสดมภ์ไม่เพียงพอต่อการบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์จึงทรงยกเลิกการปกครองดังกล่าวในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ และจัดตั้งกระทรวงจำนวน ๑๒ กระทรวงเพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
กระทรวงทั้ง ๑๒ กระทรวงนั้นประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาล กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงธรรมการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมุรธาธร กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง ซึ่งเป็นที่มาของการบริหารในรูปแบบกระทรวงจนถึงปัจจุบันนี้
กระทรวงการคลังปัจจุบันนี้ มีที่มาจากกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้ตราพระราชบัญญัติไว้เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๑๘ มีการยกฐานะเป็นกระทรวงเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๓๓ และเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงการคลังในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕
กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานของราชการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน การภาษีอากร การรัษฎากร กิจการเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ กิจการอันกฎหมายบัญญัติให้เป็นการผูกขาดของรัฐ กิจการหารายได้ซึ่งรัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมาย กิจการซึ่งจะเป็นสัญญาผูกพันต่อเมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจหรือสัตยาบัน รวมทั้งการค้ำประกันหนี้ของส่วนราชการ องค์การรัฐ สถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจ
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบายตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งไว้แล้วว่า จะดำเนินการแจกเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้กับประชากรประมาณ ๕๕ ล้านคน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็ได้ปรับลดเหลือเพียง ๔๕ ล้านคน โดยจะให้แก่ประชากรที่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป มีรายได้เดือนละไม่เกิน ๗๐,๐๐๐ บาท และมีเงินฝากรวมกันไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรและแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งประเด็นหลังนี้มีผู้โต้แย้งเป็นจำนวนมาก โดยกระทรวงที่รับผิดชอบดำเนินการคือกระทรวงการคลัง จากเดิมที่หาเสียงไว้ว่าจะแจกเงินได้ประมาณ ๓ เดือนหลังจากเข้าปฏิบัติหน้าที่ ก็ได้เลื่อนมาตลอด เพราะมีประเด็นทั้งแหล่งเงินและกฎระเบียบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะนี้รัฐบาลได้อ้างว่ามีความพร้อมแล้วที่จะแจกเงินดังกล่าว และได้เริ่มให้ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายแสดงความจำนงซึ่งก็คือการลงทะเบียนเพื่อจะขอรับเงินนี้ โดยผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือสามารถลงทะเบียนผ่าน Application ซึ่งรัฐได้จ้างพัฒนาขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคมเป็นต้นมา และจะเปิดให้ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ได้ลงทะเบียนในเดือนต่อไป รวมทั้งการลงทะเบียนของร้านค้าที่จะเข้าร่วมด้วยโดยจะให้การลงทะเบียนสิ้นสุดภายในเดือนกันยายน
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้ขอตั้งงบประมาณประจำปี ๒๕๖๗ เพิ่มเติมและผ่านความเห็นชอบจากสภาฯแล้วจำนวน ๑๒๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่ตามระเบียบของการบริหารงบประมาณแผ่นดินนั้น งบของแต่ละปีจะไม่สามารถใช้ข้ามปีได้ เว้นแต่ได้มีการทำสัญญาที่เป็นการสร้างงบผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ
จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะเร่งรัดให้ประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียนให้มากที่สุดและแล้วเสร็จให้ทันปีงบประมาณคือภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อทำให้งบประมาณที่ขอตั้งเพิ่มเป็นงบผูกพันเพื่อนำออกมาใช้ให้ได้ทั้งหมดนั่นเอง
ได้แต่หวังว่าพายุหมุน ๔ ลูก ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้กล่าวไว้ว่าจะทำให้เงินทั้งหมดที่ถูกจ่ายไปนั้นซึ่งไม่น่าจะถึง ๔๕๐,๐๐๐ ล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติให้โตขึ้นกว่าเดิมได้จริง เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ภัยพิบัติด้านการเงินการคลังของชาติจากการมีหนี้สินจำนวนมหาศาล จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นวิกฤตการเงินที่แท้จริง แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี