ประเทศไทยขาดบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในทุกสาขา แต่แพทยสภามีหน้าที่ดูแลแพทย์เท่านั้น แล้วพยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช ฯลฯ ละ?ในใจผมคิดว่าประเทศไทยยังขาดพยาบาลเป็นแสนคน ที่จุฬาฯเองก็ขาด ทำให้เปิดตึก เปิดเตียงโน่นนี่นั่นไม่ได้ตามศักยภาพ ฯลฯ
และประเทศไทยไม่ได้มีแต่บุคลากรทางสาธารณสุขเท่านั้น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ อาชีวะ นัก IT ฯลฯ ก็ยังขาด ผมจึงอยากให้มีกรรมการแห่งชาติดูแลเรื่องกำลังคนให้ทุกอาชีพและวิชาชีพอย่างจริงจัง
ข้อมูลของแพทยสภา ณ 16/6/2566 แพทย์ที่มีชีวิตและติดต่อได้มี 69,371 คน
แพทย์ที่อยู่ใน กทม. 33,246 คน หรือ 47.93% ของแพทย์ทั้งหมด และอยู่ในต่างจังหวัด 36,125 คน หรือ 52.07%
แพทย์ที่มี อายุ 20-30 ปี จำนวน 16,732 คน, อายุ 31-40 ปี จำนวน 21,643 คน, อายุ 41-50 ปี จำนวน 13,562 คน, อายุ 51-60 ปี จำนวน 7,791 คน, อายุ 61-70 ปี จำนวน 5,422 คน, อายุ 71 ปีขึ้นไป จำนวน 4,221 คน
รวมแพทย์ที่มีอายุ 20-60 ปี มีจำนวนเพียง 59,728 คน ทั้งประเทศ
แต่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ในกระทรวงเพียง 24,600 คน (6/6/2566) หรือ 41.12% ของ 59,728 คน(แพทย์ที่อายุ < 60 ปี) หรือ 35.46% ของแพทย์ที่ติดต่อได้ทั้งหมดทุกเพศ ทุกวัย (69,371 คน)
แต่ยังมีแพทย์ที่อายุระหว่าง 61-70 ปี อีก 5,422 คน ที่ประเทศน่าจะนำทุกท่านที่มีสุขภาพที่ดีมาช่วยทำงานต่อ รวมทั้งบางท่านที่อายุ 71 ปีขึ้นไป (ทั้งหมดมี 4,221 คน) ด้วย เราควรให้แพทย์(ที่ต้องการและมีสุขภาพที่ดี) เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุ 70 ปีได้แล้ว
และกระทรวงสาธารณสุข ดูแล 88% ของประชาชนที่มีบัตรทอง!
ในแง่ของการจัดการเรื่องกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข โดยวันนี้ขอเน้นเรื่องแพทย์ ผมมีความเห็นว่าเราต้องมองปัญหาคล้ายๆ เรามีสงคราม ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.พ. งบประมาณ สภาพัฒน์ ผู้ผลิตแพทย์ ผู้ใช้ ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันเพื่อจะทำให้ประเทศชาติ (ประชาชน) ได้รับชัยชนะ เราต้องทำการรบกับสงครามนี้แบบกองโจร ตอดเล็กตอดน้อย ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันไป ไม่ใช่ทำอย่างเดียว
เช่น เราต้องพิจารณาว่าเราจะต้องผลิตแพทย์เพิ่มไหม ระยะยาวถ้าผลิตมากไปจะเป็นอย่างไร ในมุมมองของผมในปัจจุบันนี้เราขาดแพทย์แน่ๆ เราต้องดูว่าเราอยากมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คนเท่าไหร่ มีแพทย์สาขาอะไรบ้าง ต้องมีการประเมินว่าใน 5 ปี 10 ปี ความต้องการนี้จะมากขึ้นหรือน้อยลง ถ้าเราเปรียบเทียบกับอังกฤษ ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ออสเตรเลีย เรายังขาดแพทย์อีกมาก ขณะนี้เรามีโรงเรียนแพทย์ 25 แห่งเป็นของรัฐ 21 แห่ง ของเอกชน 4 แห่ง เราควรพิจารณาว่า 25 แห่งนี้พอหรือไม่ ถ้าไม่พอ จะตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่อีกไหม
การตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่ จะต้องใช้งบประมาณมาก ถ้าเราต้องการผลิตแพทย์เพิ่มเราควรพิจารณาผลิตแพทย์เพิ่มในโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่แล้วหรือไม่ หรือใน รพ.ศูนย์ต่างๆ ของรัฐ จะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเท่ากับการตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ ค่าก่อสร้าง การจัดการหาบุคลากร โดยเฉพาะทางด้าน preclinic ไม่ใช่ง่าย ผมยังเคยคิดว่า ประเทศไทยควรมีโรงเรียนแพทย์เฉพาะทางด้าน preclinic เช่น เราต้องการแพทย์ปีละ 4,000 คน เราตั้งสถาบัน preclinic แห่งชาติ คล้ายๆ รร.เตรียมทหาร ผลิต 4,000 คนต่อปี และลงทุนให้เต็มที่ หาบุคลากรที่เก่ง มีความสามารถ และให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ที่อยู่ได้โดยไม่ต้องไปทำงานเพื่อหาเงินเพิ่ม แล้วเมื่อนิสิตแพทย์เรียนจบจากที่นี่กระจายนิสิตแพทย์ไปยังโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ศูนย์การศึกษาแพทย์ทางด้านคลินิกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว 49 ศูนย์
ต้องพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของการเรียนรวมแบบนี้ อาจจะเป็นการหล่อหลอมว่าที่แพทย์ให้มีความรัก สามัคคี มีอุดมคติ ในทางที่ดี และอาจหาอาจารย์พรีคลินิกได้ง่ายขึ้น เพราะน่าจะใช้กำลังบุคลากรน้อยลง
ประเด็นต่างๆ ของการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ คือ
เราควรมีแพทย์ 1 คนต่อประชากรเท่าไหร่
เราควรมีแพทย์สาขาอนุสาขาต่างๆ ต่อประชากรเท่าไหร่
เราต้องการแพทย์ทุกสาขาอนุสาขาในกระทรวงสาธารณสุขเท่าไหร่
การกระจายแพทย์ ด้วยการมีแรงจูงใจที่ดี ไม่ใช่บังคับ
การรักษาแพทย์ไว้ในระบบไว้ให้ได้ด้วยการจูงใจที่ดี
ประเทศไทยมีแพทย์สาขา อนุสาขาต่างๆ ประมาณ 94 สาขา อนุสาขา ซึ่งทั้ง 94 สาขาฯนี้ขึ้นอยู่กับ 14 ราชวิทยาลัย 1 วิทยาลัย ซึ่งทั้ง 15 ราชวิทยาลัยฯ นี้ขึ้นอยู่กับแพทยสภา ทั้ง 15 ราชวิทยาลัยควรพิจารณาว่าแพทย์สาขา อนุสาขาในสังกัดของตัวเองควรมีจำนวนเท่าไหร่ เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ สำหรับโรงเรียนแพทย์ ศูนย์ รพท.(ทั่วไปหรือจังหวัดเก่า) รพช.(ชุมชน หรืออำเภอเก่า) หรือแม้แต่ รพ.สต.(รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล) และยังควรมีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสถานที่ เช่น ห้องต่างๆ เครื่องมือ อุปกรณ์ อะไรบ้างในรพ.ทุกระดับ โดยขอความร่วมมือกับ ก.พ. งบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ สมาคมต่างๆ ในการวางเกณฑ์ เวลา รพ.ไหนขออะไรเพิ่ม จะได้ขอตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่เพราะสนิทกับผู้บริหารประเทศ กระทรวง ฯลฯ
ในช่วงนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขขาดแพทย์ ทุกหน่วยงานที่ผมเอ่ยถึงควรร่วมมือกันหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ในระยะสั้น และวางแผนระยะกลาง ยาว อย่างเช่นส่งเสริม สนับสนุนให้ศูนย์แพทย์ต่างๆ ของกระทรวงมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ตลอดเวลา ทำอย่างไรจึงจะให้แพทย์ผู้ใช้ทุนครบแล้วอยู่ตาม รพ.ชุมชน ไม่ใช่มีแพทย์ 5 คนแต่ 4 คนเป็นแพทย์ผู้กำลังใช้ทุน มีแต่ ผอ.เท่านั้นที่ใช้ทุนครบแล้ว แต่ท่านก็ใกล้เกษียณ แต่แพทย์ผู้ใช้ทุนก็ยังสามารถมาใช้ทุนที่ รพ.ชุมชนได้ แต่เป็นตำแหน่งเสริม ไม่ใช่ตำแหน่งหลัก (ข้อมูลนี้ผมเพิ่งทราบสดๆ ร้อนๆ เมื่อสองวันนี้เอง)
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี