เมื่อวานนี้ ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.4022/2557
นั่นก็คือ คดีชายชุดดำ กองกำลังติดอาวุธ ที่ลงมือปฏิบัติการเหี้ยมโหด ในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 บริเวณที่ชุมนุมเสื้อแดง สี่แยกคอกวัว และถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
1.ข้อหาตามคดีนี้ น่าสังเกตว่า มีการตั้งข้อหาแต่เพียง ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72 และ 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
มิใช่ข้อหาพยายามฆ่า ฆ่า หรือก่อการร้าย ฯลฯ
2.ศาลอาญาพิพากษา นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี จำเลยที่ 1 และนายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น จำเลยที่ 2 ทำผิดตามฟ้อง ฐานร่วมกันพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะหรือชุมชน และมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 ลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี
ส่วนจำเลยที่ 3, 4 และ 5 แม้ในชั้นสอบสวนจะให้การรับสารภาพ แต่เจ้าหน้าที่มีเพียงบันทึกคำซักถามและคำให้การของผู้ต้องหาเท่านั้น เป็นเพียงพยานบอกเล่าและคำซัดทอด แม้จะมีภาพถ่ายนำชี้ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความสนับสนุน จึงมีเหตุให้สงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
3.สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากบทลงโทษ คือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า
3.1 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงสะพานพระปิ่นเกล้า แยกคอกวัวไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันดังกล่าวทางการได้สั่งให้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่ ระหว่างนั้น มีกลุ่มชายชุดดำสวมหมวกไหมพรม ซึ่งมีอาวุธยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุม และพลเรือน กระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไปตรวจที่เกิดเหตุพบเศษปลอกกระสุนเอ็ม-79 ปลอกกระสุนปืนกลเล็กขนาด 5.5 มม.
ต่อมา มีผู้แจ้งว่าพบรถยนต์ฮอนด้า สีขาว จอดไว้อยู่ที่บ้านริมน้ำนานผิดสังเกต กระทั่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกระทั่งสืบทราบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งห้าคนมาสอบถาม
3.2 ในส่วนของนายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 โจทก์มีทหารม้าเป็นพยาน เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ขับรถฮัมวี่ พวงมาลัยซ้าย เพื่อพากำลังทหารไปในพื้นที่ตามคำสั่งสลายการชุมนุมและรอรับกลับ ระหว่างจอดรถรออยู่หัวรถหันไปทางกองทัพบก ท้ายรถหันมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เห็นรถตู้โตโยต้า สีขาว ขับผ่านมา แล้วชะลอความเร็วโดยมีชายคนหนึ่งผลักประตูรถเลื่อนออกมาแล้วตะโกนด่าพยาน ภายหลังทราบว่าเป็นจำเลยที่ 1 โดยระหว่างนั้น ก็เห็นอาวุธปืนอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย ประกอบกับสอดคล้องกับคำเบิกความของพี่สาวของผู้ชุมนุมที่ใกล้ชิดจำเลยที่ 1 ระบุว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 มีอาชีพขับรถตู้รับจ้างเช่นเดียวกับน้องชายซึ่งเคยพากันไปชุมนุมหลายครั้ง ก่อนเกิดเหตุเห็นช่วยกันขนกระเป๋าสีดำจากรถยนต์ฮอนด้า สีขาว ที่จอดไว้บริเวณบ้านริมน้ำมายังที่ห้องพักโดยพยานเห็นปากกระบอกปืนโผล่ออกมาจากกระเป๋า จากนั้น ก่อนไปชุมนุมได้ขนกระเป๋าและลังสีน้ำตาลใส่รถตู้สีขาวเพื่อจะพาไปยังที่ชุมนุม จึงเห็นว่า พยานปากนี้คุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุจะปรักปรำให้ต้องรับโทษ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของรถตู้ที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เช่ารถไปใช้ต่อ ดังนั้น จึงสอดรับกับพยานที่เป็นทหารซึ่งได้ควบคุมตัวและบันทึกการสอบถามจำเลยทั้งห้าไว้ซึ่งอ้างถึงคำรับสารภาพว่า มีการวางแผนจัดเตรียมอาวุธไปในที่ชุมนุมโดยจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนเอ็ม-79 จำเลยที่ 2 จะใช้ปืนอาก้า จำเลยที่ 4 จะใช้ปืนเอ็ม 16 จำเลยที่ 5 ถือระเบิดเพลิง ส่วนจำเลยที่ 3 จะช่วยส่งอาวุธปืนให้
พยานโจทก์ทุกปากให้การสอดคล้องกันกับภาพถ่าย, บันทึกการสอบถามผู้ต้องหาและบันทึกการนำชี้จุดที่เกิดเหตุ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
3.3 ในส่วนของนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่แฝงตัวอยู่ในชุมนุม เบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธปืนอาก้าเข้ามาในที่ชุมนุม ซึ่งการ์ด นปช.ได้ขอตรวจบัตร แต่กลุ่มชายชุดดำอ้างว่าไม่ได้นำมา จังหวะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมจึงได้ถอดหมวกไหมพรมของหนึ่งในชายชุดดำออกก่อนที่จะยึดอาวุธปืน ก็พบว่าเป็นใบหน้าจำเลยที่ 2 แต่ขณะที่กำลังจะถอดหมวกไหมพรมชายชุดดำคนที่ยืนถัดไปได้เพียงครึ่งหน้า ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณที่ชุมนุมทำให้ชายชุดดำดังกล่าววิ่งออกไป
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ขณะเปิดหมวกไหมพรมนั้นเป็นภาพตัดต่อก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธในภาพถ่ายของโจทก์ ดังนั้น พยานโจทก์ที่นำสืบในส่วนของจำเลยที่ 1-2 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าร่วมกันกระทำผิด
4.คำพิพากษาชัดเจนว่า มีกองกำลังติดอาวุธชุดดำ เข้าไปปฏิบัติการ เมื่อ
วันที่ 10 เม.ย.2553 จริงๆ
เพียงแต่คดีนี้ คำฟ้องไม่ได้ตั้งข้อหาก่อการร้าย หรือเจตนาฆ่า จึงไม่ได้มีการนำสืบลึกลงไปถึงพฤติกรรมแห่งการใช้อาวุธในแต่ละกรณี ว่าทำให้มีใครตายหรือไม่ อย่างไร
5.ข้อเท็จจริงในคำพิพากษา ตอกย้ำสิ่งที่หลายหน่วยงานเคยนำเสนอเรื่องกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำ
พวกมันมีอยู่จริง ลงมือปฏิบัติการจริง ในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553
5.1 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงสรุปไว้ว่า
เหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัวและถนนดินสอ วันที่ 10 เม.ย. 2553 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย
เป็นพลเรือน 21 ราย รวมทั้งนายมูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม
มีผู้บาดเจ็บทั้งผู้ชุมนุมและทหาร รวมกว่า 864 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 300 นาย
พบหลักฐานว่า มีคนชุดดำ ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัด ใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถนนตะนาว และถนนข้าวสารบริเวณสี่แยกคอกวัว ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยใช้ระเบิดเอ็ม-79 และอาวุธปืนเล็กยาวหรืออาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่ถนนตะนาวและถนนข้าวสาร เสียชีวิต 1 นาย
ที่ถนนตะนาว นอกจากระเบิดเอ็ม-79 แล้ว พบร่องรอยกระสุนที่ยิงสวนกลับไปแต่ไม่มากนัก
ที่ถนนดินสอ จากหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อเนื่องมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ถูกโจมตีโดยกลุ่มคนชุดดำ พบร่องรอยระเบิดซึ่งเป็นระเบิดเอ็ม-67 ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็บอกว่าเป็นระเบิดเอ็ม-79 ด้วย โดยมีเอ็ม-67 อยู่ 2 ลูก
จากการตรวจสอบหลายฝ่าย รวมทั้ง คอป. พบว่า ระเบิดเอ็ม-67 นั้น น่าจะขว้างมาจากบ้านไม้โบราณหลังหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับทางเข้าของโรงเรียนสตรีวิทยา และระเบิด 2 ลูกนี้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย
คอป.พบว่า การปฏิบัติการของคนชุดดำในทั้ง 2 พื้นที่นั้น ได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช.บางคน
การเสียชีวิตของทหารทั้ง 5 นาย และบาดเจ็บจำนวนมากนั้น น่าเชื่อว่าได้เกิดจากการโจมตีและระเบิดสังหารโดยคนชุดดำ และไม่พบพยานหลักฐานว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติการของคนชุดดำ
อย่างไรก็ตาม พบว่าคนชุดดำบางคนเป็นผู้ใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และพบว่า พล.ต.ขัตติยะปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ตอนบ่าย เช่น สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาตั้งแต่ตอนเย็น ก่อนเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ก็ได้ปรากฏตัวที่นั่นอีก
ในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 พบว่า อาวุธของทหารถูกการ์ดนปช.ยึดไป ปืนลูกซองของทหาร 35 กระบอก ปืนเล็กยาวหรือ ปลย. ชนิดทราโวจำนวน 12 กระบอก พร้อมกระสุนจริง 700 นัด ถูกการ์ด นปช.ยึดไป และในเหตุการณ์ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ที่เจ้าหน้าที่สูญเสียมาก รถสายพานลำเลียงถูกเผา ปืนเล็กยาว ปลย. เอ็ม-16 จำนวน 9 กระบอก ทราโวจำนวน 13 กระบอก และอื่นๆ ถูกยึดไป อาวุธเหล่านี้ ทางราชการได้กลับคืนมาเพียงปืนเอ็ม-16 1 กระบอก และปืนทราโว 2 กระบอก ที่เหลือยังไม่ได้คืน
5.2 รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. มีเรื่อง “การปรากฏตัวของชายชุดดำ” ระบุว่า
พบการปรากฏตัวของคนชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม 5 คน อยู่ในที่ชุมนุม ในจำนวนนี้มีผู้ใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ. แดง) ด้วย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งพบเห็นกลุ่มบุคคลดังกล่าวถืออาวุธ ปลย. ชนิด เอเค 47 และชนิดเอ็ม-16 เครื่องยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 และปืนพก ที่บริเวณปากซอยข้างร้านแมคโดนัลด์ที่เชื่อมต่อไปออกถนนตะนาว โดยพบเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ก่อนที่ทหารบนถนนตะนาวและบนถนนดินสอจะถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามไม่นาน นอกจากนี้ ในช่วงเหตุการณ์ปะทะกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 พบคนชุดดำจำนวน 4 คน ถืออาวุธปลย. ชนิดเอเค 47 และ ปลย. ไม่ทราบชนิด เดินออกมาจากถนนตะนาวฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณสี่แยกคอกวัว และหลังจากเหตุการณ์รุนแรงเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวได้ยึดอาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 จากคนชุดดำที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ได้จำนวน 1 กระบอก หลังเกิดเหตุรุนแรงบริเวณถนนตะนาว
เวลา 20.37 น. มีนักข่าวชาวต่างประเทศคนหนึ่งพบคนชุดดำถืออาวุธ ปลย. ชนิดเอเค 47 ในบริเวณเดียวกันและได้ถ่ายภาพไว้ด้วย ยังปรากฏภาพถ่ายคนถืออาวุธปลย.ชนิดเอ็ม-16 ยืนอยู่ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเกิดเหตุรุนแรง สอดคล้องกับคำบอกเล่าของอาสาสมัครกู้ชีพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ นอกจากนี้ เวลาประมาณ 19.00 น. ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะถูกโจมตีด้วยระเบิด มีผู้พบเห็นรถตู้สีขาวขนคนชุดดำสองสามคนพร้อมอาวุธสงครามมาส่งลงบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้านร้านหนังสือเมืองโบราณและร้านเมธาวาลัย (ศรแดง) โดยมีการ์ด นปช. คอยห้อมล้อมเดินไปทางร้านแมคโดนัลด์ หัวมุมถนนดินสอติดกับโรงเรียนสตรีวิทยา เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยการ์ด นปช. ห้ามมิให้ใครถ่ายรูป มีผู้ชุมนุมบางคนพูดว่า “ส่งคนมาช่วยแล้ว” แต่ถูกการ์ด นปช. ห้ามไม่ให้พูด
ยังปรากฏภาพรถตู้สีขาวในกล้องวงจรปิดบริเวณวงเวียนสี่กั๊กพระยาศรี 2 ครั้ง ระบุเวลา 20.19 น. และอีกครั้งในเวลา 21.01 น. และยังปรากฏภาพคนชุดดำถือเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม-79 ยืนอยู่ข้างรถตู้สีขาวจอดอยู่ในบริเวณที่มีผู้ชุมนุมอยู่ แต่ไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของภาพได้ เจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า หลังเหตุการณ์ความรุนแรง มีรถตู้สีขาวซึ่งมีกลุ่มคนชุดดำ มีอาวุธสงครามโดยสารมาด้วยขับผ่านมาที่บริเวณหน้าวัดตรีทศเทพ คนในรถโผล่หน้าออกมาเยาะเย้ยทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งยืนยันว่าเห็นชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธสองสามคนนั่งอยู่ในรถคันดังกล่าว
คำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวานนี้ ตอกย้ำความจริงเกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธชุดดำ 10 เม.ย. 2553
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี