นี่คือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
แจกเงินคนละ 10,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 14.55 ล้านคน
ถือเป็นโครงการแรกของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์
1. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
มีนโยบายสำคัญที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
คณะรัฐมนตรีเล็งเห็นว่า เนื่องจากในปี 2567 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (Potential Growth) และประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น การหดตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในช่วงครึ่งปีแรก การหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ผลิตอุตสาหกรรมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ เป็นต้น
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนพิการที่มีกำลังซื้อที่อ่อนแอได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ
คณะรัฐมนตรี จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการฯ เพื่อเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
2. กระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565
เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
รัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 12.4 ล้านราย
ประกอบด้วย
ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้วตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม.
ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567
3. กระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ 2.15 ล้านราย
มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภท ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา (2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ (1) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 2.15 ล้านราย
ประกอบด้วย
คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
4. การดำเนินการทั้ง 2 โครงการฯ จำนวน 14.5 ล้านราย
กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง จะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
ล่าสุด เตรียมพร้อมที่จะจ่ายเงิน ดังนี้
25 กันยายน 2567 –โอนเงินให้ คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0
26 กันยายน 2567 - โอนเงินให้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3
27 กันยายน 2567 - โอนเงินให้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7
30 กันยายน 2567 - โอนเงินให้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9
ทั้งนี้ ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567
โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
5. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวมจำนวนประมาณ 14.55 ล้านราย ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต โดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า
จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว
คาดว่า การมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.35 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
6. นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า สิ่งที่แฝงมา คือ คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้จะดีขึ้น เพราะจะเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้จะผิดเป้าหมายไปบ้างที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการแจกเงินผ่านระบบดิจิทัล แต่ก็แลกกับความรวดเร็ว ทำให้มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจ และกลุ่มนี้ได้เงินเร็ว ใช้จ่ายเร็ว ดังนั้น ข้อดีของมันก็มี
7. น่าคิดว่า โครงการนี้ จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินโอนเข้าบัญชีประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 14.55 ล้านคน คนละ 10,000 บาท
รวมเป็นเงิน 145,500 ล้านบาท
ทุกบาททุกสตางค์โอนเข้าบัญชีประชาชน ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือช่องทางรั่วไหล
แต่จะเกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจคุ้มค่าขนาดไหน ก็จะต้องดูที่ผลของการจับจ่ายใช้สอยว่าได้กระตุ้นให้เกิดการผลิต เกิดรายได้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขาย แค่ไหน อย่างไร
โดยปกติแล้ว กลุ่มที่มีรายได้น้อย เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือ ก็จะมีพฤติกรรมใช้จ่ายออกไปอย่างรวดเร็ว (เพราะขาดรายได้อยู่แล้ว) ซึ่งจะทำให้เงินหมุนไปในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
แต่ถ้าประชาชนได้รับเงินไปแล้ว นำไปใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ เช่น ใช้หนี้นอกระบบ นำไปเล่นการพนัน ฯลฯ เงินโอนก็จะไม่ได้เพิ่มยอดจีดีพีของประเทศ (แต่ช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนที่ได้รับเงิน)
8. น่าสังเกตว่า รัฐบาลเรียกโครงการนี้ว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ”
ถ้าตอนเลือกตั้งหาเสียงว่า จะแจกเงินแก่ผู้มีบัตรลุงตู่ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ก็จะนับว่าตรงไปตรงมากว่า
โดยผู้ที่กำลังจะได้รับเงินหมื่นจากโครงการนี้ ไม่ต้องไปลงทะเบียนใหม่ เพราะมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว
ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามโครงการนี้ จะต้องดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน ว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่
หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ ให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน
และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ หรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ให้ดำเนินการทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว
ส่วนโครงการเติมเงินหมื่น ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลเศรษฐาเคยให้ลงทะเบียนผ่าน “ทางรัฐ” นั้น จะต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหลังจากนี้ ว่าสำหรับคนที่ลงทะเบียนไว้ ใครจะผ่านคุณสมบัติหรือไม่ เพราะบางคนอาจได้รับเงินหมื่นไปแล้วในโครงการนี้ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน (กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน) ก็จะต้องรอรายละเอียดการดำเนินการหลังจากนี้ เพราะบางคนก็อยู่ในข่ายจะได้รับเงินแล้วจากโครงการนี้นั่นเอง
เท่ากับว่า ขนาดและรูปแบบของโครงการเติมเงินหมื่น เข้าดิจิทัล วอลเล็ต ก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ผลกระทบและความเสี่ยงของประเทศจากโครงการดังกล่าว ก็น่าจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี