“เจ้าประธานาธิบดี จอมทวีต” (Twittering President) เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ ฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้กับทรัมป์ ด้วยพฤติกรรมการชอบออกมาพูดโน้น พูดนี้ผ่านการทวิตเตอร์ (Twitter) หรือ “การออกมาส่งเสียงร้อง-จ้อกแจ้ก” ทางออนไลน์ ที่ทำได้ครั้งละไม่เกิน 280 คำ แต่ภายหลังจากที่ถูกทวิตเตอร์หรือ X ในปัจจุบันระงับบัญชีการใช้งาน ทรัมป์ก็ไปสร้างแพลตฟอร์มใหม่ของตัวเองชื่อว่า Truth Social อันเป็นชื่อที่ขัดกับพฤติกรรมการชอบพูดจามั่วซั่ว เกินจริงหรือนิสัยขี้โกหกของทรัมป์เป็นอย่างยิ่ง
นิวยอร์กไทม์เคยเก็บข้อมูลการโกหก (lie) การพูดผิดๆ ถูกๆ(falsehood) ของทรัมป์ในช่วงหนึ่งปีแรกของการบริหารงานพบว่านับตั้งแต่วันแรกที่เข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม2017 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หรือ 40 วันแรกในตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่มีวันไหนเลยที่ทรัมป์จะไม่กล่าวคำเท็จหรือพูดเกินจริงเลย และส่วนใหญ่แล้ววันที่ทรัมป์ไม่โกหกหรือพูดเท็จผ่านโซเชียลมีเดียเลย ก็คือวันที่เขาไม่ได้ใช้โทรศัพท์ เช่นวันที่ไปออกรอบตีกอล์ฟ หรือใช้เวลาพักผ่อนส่วนตัวอยู่ที่ฟลอริดา
อย่างไรก็ตาม การทวิตเตอร์หรือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์มตัวเองอย่าง Truth Social กลายเป็นการสื่อสารทางการเมือง
อันทรงพลังระหว่างทรัมป์กับกลุ่มแฟนคลับและฐานเสียงของเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น คนขาว การศึกษาไม่สูง การงานไม่มีความมั่นคงนักหรือตกงาน ไปโบสถ์อยู่เป็นประจำและอาศัยอยู่ตามเมืองเล็ก ในรัฐต่างๆ
ด้วยลีลาการทวิตเตอร์ที่ใช้คำง่ายๆ ทำชาวบ้านเข้าใจได้ไม่ยาก รวมไปถึงการจิกกัด เสียดสี เหน็บแนมและชอบตั้งฉายาให้กับฝ่ายตรงข้าม
เช่น โจ ผู้น่าเบื่อ (Sleepy Joe) เมื่อพูดถึง โจ ไบเดน คู่แข่งในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาปลายปีนี้, เรียก ฮิลลารี คลินตัน ว่า ยัยขี้โกง (Crooked Hilary) ทุกครั้งเวลาเอ่ยชื่อเธอ, หรือเรียก คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือว่า มนุษย์จรวด (Rocket man) เป็นต้น
การสื่อสารทางการเมืองของทรัมป์ที่ไปตรงใจชาวบ้านนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้เก่ง หรือย่อยความรู้
ได้ดี เพราะความจริงแล้วทรัมป์เป็นคนที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือมากและมีความรู้รอบตัวที่น้อยมาก ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีคำศัพท์ (vocabulary) อยู่ในกระเป๋ามากนัก สำหรับการหยิบมาใช้เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก เขาจึงต้องใช้คำง่ายๆ พื้นๆ และใช้ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอด
ถ้าไปดูห้องทำงานที่ทำเนียบขาวของทรัมป์ จะพบว่าชั้นหนังสือหรือบนโต๊ะทำงานนั้นไม่มีหนังสือหรืองานเขียนประเภทที่ให้ความรู้หรือประเทืองปัญญาเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนิตยสารต่างๆ ที่มีเรื่องราว บทสัมภาษณ์ของทรัมป์หรือครอบครัวของเขา โดยเฉพาะเล่มที่มีรูปเขาขึ้นปกและหนังสือชีวประวัติตัวเอง หนังสือเรื่องการเจรจาทางธุรกิจ (the art of deal) ของเขาที่คนอื่นเขียนให้
สื่อหลายสำนักได้รวบรวมการทวิตเตอร์ของทรัมป์ ตั้งแต่วันแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดีจนครบวาระสี่ปีพบว่าทรัมป์ใช้คำศัพท์อยู่ไม่เกิน 5,000 โดยคำที่ใช้บ่อยมากที่สุดก็คือคำว่า Great (ไม่นับรวมศัพท์ประเภท the, a , I, you, meหรือ กริยาทั่วไป เช่น am, is, are, have อะไรเหล่านี้เป็นต้น) ที่เขามักใช้เป็นคำคุณศัพท์เพื่อไปขยายคำอื่นๆ เช่น great man, great people, great guy, great economy, make American great again……สังเกตได้ว่าในขณะที่ทรัมป์จะเก่งในการตั้งฉายาทางลบให้กับคนโน้นคนนี้ แต่เวลาจะชมใคร เขากลับไม่สามารถหาคำชมที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ เป็นรายๆ ไป ใช้ได้แค่คำว่า great หรือ ยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยม ได้เพียงแค่คำเดียวกับทุกคนและทุกสิ่งทุกอย่าง
บริษัทลิงกัวโฟน (Linguaphone) ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการจัดทำสื่อการสอนทางด้านภาษา มาตั้งแต่ปี 1901 ได้เคยทำแบบสำรวจพบว่า คนที่อ่านเขียนไม่ได้นั้น จะรู้ศัพท์ไม่เกิน 500 คำ เด็กสองขวบประมาณ 300 คำ พอสัก 8 ขวบก็ 2,000-3,000 คำขณะที่ผู้ใหญ่ที่ไม่ฉลาดก็จะรู้สัก 10,000 ส่วนผู้ใหญ่ทั่วไปก็อยู่ประมาณ 35,000-70,000 คำ ส่วนพวกหนอนหนังสือจะมีศัพท์อยู่ในกระเป๋าคนละอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคำ
กระนั้นก็ตาม ด้วยสถานะที่เป็นคำพูดหรือวาจาที่เปล่งออกมาจากปากของผู้นำระดับประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา การทวิตเตอร์ของทรัมป์ก็มักถูกนำเข้าไปเป็นกรณีศึกษาในวิชา ศิลปะการพูดจาหว่านล้อมทางการเมือง (the art of political persuasion) ในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่อเมริกา
วิชานี้เป็นการสอนแบบสัมมนา โดยหยิบยกลีลาการพูดในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ ของผู้นำหรือบุคคลที่น่าสนใจซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองเสมอไป มาทำการวิเคราะห์กัน เช่น ผู้นำอย่าง โอบามา นั้นจะพบว่าในกระเป๋าคำศัพท์ของเขานั้นมีคำอยู่ไม่น้อยกว่าแสนคำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจสำหรับคนที่เคยเป็นอดีตบรรณาธิการวารสารกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและศาสตราจารย์พิเศษด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างโอบามา
ขณะที่คนอย่าง บิล คลินตัน จะมีทักษะการพูดที่สร้างเพื่อนใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา (ครั้งหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า....ตอนที่ บิล มาเทียวไล้เทียวขอตามจีบเธอ ในช่วงที่ทั้งคู่กำลังเป็นนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล เธอไม่สนใจบิลเลยจนกระทั่งวันหนึ่ง เธอเห็น บิล เดินทักคนโน้น เรียกชื่อคนนี้ทั่วไปหมดทั้งในโรงอาหาร หลังจากนั้น เธอจึงเริ่มสนใจบิล เพราะคิดว่าผู้ชายคนนี้ ต้องมีอะไรในตัวพิเศษ ไม่ธรรมดาแน่ๆ) ซึ่งคล้ายๆ กับ บุช จูเนียร์ ที่คนอเมริกันมองว่า ถึงแม้เขาจะไม่ใช่ผู้นำที่ดีนัก แต่บุชก็เป็นบุคคลประเภทที่เหมาะจะนั่งกินเบียร์และมีบทสนทนาที่สนุกๆ ด้วยกัน
ส่วนการทวิตเตอร์ของทรัมป์นั้น เป็นศิลปะการหว่านล้อมทางการเมืองที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่ผ่าน ๆ มาไม่มีผู้นำคนไหนใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองแบบทรัมป์หรือมากเท่าเขา นั้นคงเป็นเพราะความไม่ช่ำชองในการพูดแบบสด ๆ ไม่มีคลังคำศัพท์อยู่ในตัวมาก รวมไปถึงนิสัยการโกหก พูดแบบความจริงครึ่งเดียว ความจริงไม่ครบมาโดยตลอด เขาจึงต้องเลือกวิธีการสื่อสารแบบทางเดียว (one-way communication) ด้วยบทสนทนาแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนกับคู่สนทนา เพราะด้วยการโกหกพกลมตลอดเวลา มันจึงเป็นการยากที่จะจำได้ว่าตัวเองโกหกเรื่องราวอะไรไว้บ้าง
เรื่องความสามารถในการโกหกของทรัมป์นั้น เคยมีการวิเคราะห์แบบทีเล่นทีจริง ในหมู่นักข่าวทำเนียบขาวว่า....การที่ทรัมป์โกหกได้เก่งขนาดนี้ ก็เพราะเขาโกหกมาโดยตลอด เป็นเวลาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งตัวของเขาเองก็เผลอไปเชื่อในคำโกหกของตนเองเข้าไปด้วย ดังนั้นจึงยิ่งทำให้ทรัมป์พูดจาโกหกหน้าตายได้ดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ......
ฉะนั้น การออกมาส่งเสียงร้อง-จ้อกแจ้ก-ทางออนไลน์ ที่ทำได้ครั้งละไม่เกิน 280 คำ ผ่านการใช้ทวิตเตอร์จึงเป็นอาวุธสำคัญที่ทรัมป์ใช้เพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนผู้สนับสนุนเขา ด้วยรูปประโยคที่สั้นและง่าย ใช้สำนวนที่ตรงไปตรงมา เข้าสู่ประเด็นด้วยการตัดคำที่ไม่จำเป็นออก ใช้คำกริยา คำคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์เท่าที่จำเป็น ไม่มีคำฟุ่มเฟือยหรือคำศัพท์สูงส่งที่มีสีสันฉูดฉาด ซึ่งถ้าดูกันแล้วก็จะคล้ายกับการเขียนของเด็กนักเรียน แต่อย่างไรก็ตาม (ไม่ว่าจะโดยที่ทรัมป์ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) การสื่อสารแบบนี้นั้น กลับกลายเป็นศิลปะการหว่านล้อมทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพกับฐานเสียงของเขาที่ตามกดไลค์ (like) ถูกใจกันอย่างไม่ขาดสาย
เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนส่วนใหญ่ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่โน้มเอียงไปในทางเลือกรับ เลือกฟัง เลือกดู ในสิ่งที่ตรงหรือสอดคล้องกับจริตหรือความคิด ความเห็นของตัวเองมากกว่า ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า confirmatory bias หรือ myside bias ขณะที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า partisan bias
ฉะนั้น ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมแบบ myside bias หรือ partisan bias เป็นธรรมชาติของมนุษยทั่วไป การวิเคราะห์แยกแยะว่าความแตกต่างระหว่างข่าวจริงกับข่าวปลอมของชาวอเมริกันยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะอเมริกันชนที่เป็นแฟนคลับของทรัมป์นั้น พร้อมที่จะเชื่อในสิ่งที่ทรัมป์สื่อสารออกไปยังกลุ่มผู้สนับสนุน โดยไม่สนใจว่าทรัมป์จะโกหก พูดมั่วซั่ว คุยโม้โอ้อวดพูดจาเกินจริงขนาดไหนก็ตาม วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน ปลายปีนี้พวกเขาก็พร้อมที่จะลงคะแนนให้ “เจ้า (อดีตและว่าที่) ประธานาธิบดี จอมทวีต” (Twittering President) คนนี้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ ข้อมูลการพูดเท็จของทรัมป์ในช่วงหนึ่งปีแรกของการเป็นประธานาธิบดี ดูเพิ่มเติมได้จาก David Leonhardt and
Stuart A. Thompson “Trump’s Lies” The New York Times (https://www.nytimes.com/interactive/2017/06/23/
opinion/trumps-lies.html)
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี